วันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลา 18.04 น. ที่อาคาร อบต.โป่งผา ชั้น 2 นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) พร้อมด้วย พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 แถลงปิดศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) ในการปฏิบัติช่วยเหลือเยาวชนนักฟุตบอล “ทีมหมูป่า อะคาเดมี” พร้อมผู้ฝึกสอน รวม 13 คนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า การเปิดศูนย์ฯ กู้ภัยช่วยเหลือน้องๆ 13 คนออกมาแล้ว เป็น Mission Possible ทำให้ไทยได้ชื่อเสียงระดับโลกไปแล้ว ก่อนอื่นที่เข้าไปในรายละเอียด การทำงานครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านพระราชทานสิ่งของ กำลังใจ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ การปฏิบัติงานในครั้งนี้คือความสามัคคี ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ ความร่วมมือ ความร่วมมือที่ดีมากๆ ทั้งความร่วมมือในเทคโนโลยี ความรู้ อุปกรณ์ ที่เอามาแลกเปลี่ยนกัน ใช้ในภารกิจเดียวกัน ถึงแม้เราปิดภารกิจได้ ด้วยการสืบค้นกู้ภัยช่วยน้องๆ มาได้ ยังคงเหลือเรื่องของการส่งกลับ และน้องๆ ตอนนี้ยังอยู่ที่โรงพยาบาล ยังเหลือในส่วนของกรมอุทยานฯ ที่ยังต้องดูแลและฟื้นฟูสภาพธรรมชาติกันต่อไป อุปกรณ์ที่นำมาใช้นั้นก็ยังต้องนำมาแจกแจงและนำส่งคืนให้แก่หน่วยงานต่างๆ ต่อไป และบทเรียนในครั้งนี้ไม่ใช่แค่บทเรียนในประเทศไทย แต่เป็นบทเรียนในโลกนี้ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์กู้ภัยในถ้ำที่น้ำเต็มมาก่อนเลย ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เราจะถอดบทเรียนนำไปสอนนักเรียน ให้กู้ภัยพัฒนา บางส่วนกระทบชาวไร่ชาวนา
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวต่อว่า ในฐานะ ผบ.ศอร.จำเป็นต้องเข้มข้นในการควบคุมพื้นที่ บางครั้งสื่อมวลชนว่าออกข่าวล่าช้าไปไหม บางครั้งวิกฤตเราจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัย ข่าวทุกข่าวที่ออกไปต้องกรองให้ถูกต้อง ยืนยันจากทุกฝ่าย ยืนยันว่าข่าวจากศูนย์ ศอร.นั้นถือเป็นข่าวที่จริง อาจจะช้าไปบ้างก็ถือว่าเป็นบทเรียนของทุกฝ่ายซึ่งเราจะได้ปรับปรุงพัฒนากันต่อไป หลายครั้งที่อาจจะดูล่าช้าไปบ้าง เช่น รถพยาบาลออกไปแล้ว แต่ทำไมเรายังไม่บอก นั่นเพราะว่าเราต้องมั่นใจว่าน้องๆ นั้นถึงโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย
บางครั้งสื่อออนไลน์มีความดรามา บางทีมองว่าน้องๆ เป็นผู้ร้ายบ้าง มองว่าเค้าเป็นฮีโร่บ้าง แต่เราถือว่าน้องๆ เป็นเด็กได้ประสบเหตุโดยสุดวิสัย เชื่อว่าน้องๆ เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก เขาอยู่บนพื้นที่กำลังใจของคน 60 ล้านคน เชื่อว่าเขาจะเป็นคนดีแน่นอน เขาจะตอบแทนคืนสังคมในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน ในอนาคตอันใกล้อาจจะได้ฟังเสียงของน้องๆ บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณหมอ ในส่วนของการปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญมากมาย เฉพาะทีมดำน้ำก็จะเป็นต่างประเทศถึง 1 ใน 4 ของปฏิบัติการ ซึ่งเราจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ หากเกิดเหตุอีกเราจะได้รู้ว่าทรัพยากรที่มีคุณค่าของโลกนี้อยู่ที่ไหนบ้าง ในวนอุทยานถ้ำหลวงฯ จะเปิดที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นที่ท่องเที่ยวที่มีเรื่องราวสำหรับพื้นที่ตรงนี้ซึ่งรองอธิบดีกรมอุทยานฯ มีรายละเอียดไปไกลมาก ถึงการมีตัวตนของทุกๆ คนทุกๆ ทีมที่จะกลายเป็นจุดหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทย เมื่อวานนี้เราพูดไปแล้ววีรบุุรุษตัวจริงของเรา คือ “จ่าแซม” ถือว่าท่านเป็นพระเอกตัวจริง ในวันนั้นทุกคนเศร้าหมด เราได้นำเหตุการณ์นั้นมาเป็นพลังของพวกเรา ทำให้เรามุ่งมั่นและเราได้รับความมุ่งมั่นจากจ่าแซมด้วย ทำให้เราทำสำเร็จ
“อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องน่าเสียใจ คือ ท่านนายกฯ ได้รับแจ้งยืนยันว่าบิดาของ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส หนึ่งในคนสำคัญที่สุดของเราได้เสียชีวิตลง ในนามของ ศอร.ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของบิดา ของ นพ.แฮร์ริส และฮีโร่ตัวจริงอีกคนหนึ่งของผม คือ หัวหน้าทีมซีล ฉลามจากสัตหีบ ที่มีช่วยเราบนเขาที่เชียงราย ผมเชื่อว่าเราอยากฟังคำจากปากของพี่น้อย ฮีโร่นั้นคือหลายๆ คน งานสำเร็จได้เพราะหลายหน่วยร่วมกัน”
พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กล่าวว่า สำหรับหน่วยซีลเราได้ฝึกมาสำหรับภารกิจแบบนี้อยู่แล้ว สโลแกนของกองทัพเรือ คือ กองทัพเรือจะไม่ทิ้งประชาชน เมื่อได้รับแจ้งให้ซีลทีมมาช่วยผู้ประสบภัย กองทัพเรือก็สั่งโดยทันที ชุดแรกเครื่องบินออกจากสัตหีบเที่ยงคืน ถึงเชียงรายตี 2 ระลอกแรก 20 นาย ตี 4 ก็ปฏิบัติการเลย ตอนแรกเราไปได้ถึงจุดสามแยกซึ่งกู้ภัยชุดแรกไม่สามารถทะลุไปยังจุดดังกล่าวได้เนื่องจากทรายได้ไหลมาอุดช่องดังกล่าว ในขณะนั้นเมื่อเราทะลุช่องไปแล้วก็ได้ดำไปจนถึงพัทยาบีช เจอแต่รอยเท้า ไม่เจอน้องๆ วันนั้นสภาพในถ้ำนั้นเราไม่เคยเจอ มืดมาก ฝนตกหนักมาก ทำให้ต้องถอยร่นจากสามแยก ถอยมาเรื่อยๆ จนถึงโถงสาม ในช่วงนั้นได้รับรายงานมาเรื่อยๆ แต่ไม่ทราบว่ามันยากขนาดไหน เลยขออนุญาตบินมาเชียงราย จาก 6 โมงเย็น เข้าถึงโถงสามก็พยายามสูบน้ำ สุดท้ายเราก็สู้น้ำไม่ได้ ต้องถอยร่นออกมา ก็ได้เห็นความยากลำบากจึงได้ขอกำลังพลมาเป็นระลอกที่ 2-3 แต่ก็ยังสู้น้ำไม่ได้ ถอยมาจนถึงปากถ้ำ ตอนนั้นความหวังเหลือนิดเดียวว่าระดับขนาดนี้จะเข้าไปช่วยได้อย่างไร วันนั้นเป็นวันที่ 7-8 แล้ว ไม่รู้ว่าน้องจะอยู่ในสภาพไหน ขณะนั้นเรามีการสูบน้ำจากภาครัฐและเอกชน น้ำลดระดับวันละ 1-2 เซนติเมตร เราดำจนไปถึงโถง 3 มีที่ว่างมากพอที่จะตั้งกองบัญชาการได้ เราจำเป็นต้องสู้ ความหวังที่จะช่วยน้องๆ ตัดสินใจสู้กับน้ำ หาขวดอากาศจำนวนมาก ในช่วงแรกได้รับการบริจาค 200 ขวค จากเอกชน และได้รับพระราชทานเพิ่มอีก 200 ขวด เราวางแผนขวดอากาศวางเรียงไปในน้ำคนละ 3 ขวด หมดแล้วเติมไปเรื่อยๆ เผื่อที่จะช่วยน้องๆ ให้ได้ โชคดีที่มีเพื่อนานาชาติมาช่วย มีนักดำน้ำจากหลายประเทศ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป กลุ่มสุดท้ายสำคัญมาก
“เราประเมินว่าจากสามแยก น้องๆ น่าจะเลี้ยวซ้าย เรามีความเบ่งบานไปตลอดช่วง แผนที่ประเมิน แต่สุดท้ายแล้วโชคดี นักดำน้ำจากอังกฤษรับต่อช่วงนั้น เจอน้องๆ ในถ้ำทั้ง 13 คน เราเห็นน้องๆ ในสภาพอิดโรย นักดำน้ำอังกฤษบอกว่าน้องๆ วิ่งมาหาเมื่อเข้าไปถึง หลังจากนั้นส่งหน่วยซีล พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ที่มีขีดความสามารถด้านนี้ รวมแล้ว 4 นาย และส่งเพิ่มไปอีก 3 นาย”
ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กล่าวต่อว่า เราเช็กช่องทางอื่นเพื่อที่จะเข้าช่วยเหลือ เนื่องจากอากาศ ปริมาณออกซิเจนน้อยลง หลังจากตรวจแล้วก็พยายามหาทุกวิถีทาง เราแข่งกับฤดูฝน การเจาะภูเขาความหนา 500 เมตร เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร โดยนักดำน้ำมืออาชีพของโลก สุดท้ายแผนที่เราวางไว้ก็ได้รับการอนุมัติจาก ผบ.ศอร. สุดท้ายสามารถนำออกมาครบ 13 ชีวิต และหน่วยซีล 4 นาย ภารกิจตรงนี้ยอมรับว่ายากจริงๆ เราต้องพัฒนาบุคลากรให้รับภัยพิบัติให้ได้ทุกรูปแบบเราก็จะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะกองทัพเรือเราไม่ทิ้งประชาชน
ผบ.ศอร.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในถ้ำออกซิเจนนั้น ถ้าเหลือ 12% น้องๆ จะเสี่ยงมากขึ้น เป็นสิ่งที่บีบให้เราทำงานเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ วันนั้นออกซิเจนเหลือ 15% ถ้ามันเหลือ 12% จะเป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก เพราะอาจทำให้ร่างกายช็อกได้ ฤดูฝนในภาคเหนือกำลังมา และไม่ได้แบบภาคกลาง มันจะมาแบบน้ำตกเลย ดังนั้นพื้นที่ที่น้องๆ ยืนอยู่ในถ้ำจะเหลือน้อยมากๆ ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังของปฏิบัติการครั้งนี้ยังมีอีกมากๆ แต่คนที่สำคัญมากๆ คือทีมสูบน้ำ น้องๆ หลายท่านถามว่า สูบน้ำเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมกับปฏิบัติการ ซึ่งซีลทีม กับทีมดำน้ำ ขอแค่พื้นที่ให้ขึ้นมาหายใจได้ วันที่ระดับน้ำดีๆ ก์คือวันที่เราประกาศ ดีเดย์ น้ำมันแห้งพอให้เราปฏิบัติการได้ ทีมสูบน้ำถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในวันที่สูบน้ำพร่องออกไป ซึ่งปริมาณน้ำที่เราพร่องออกไปได้นั้นคือเกือบๆ หนึ่งล้านลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) น้ำที่อยู่ในถ้ำ เกือบ 5 แสน ลบ.ม. ซึ่งน้ำเติมมาวันละ 2-3 หมื่น ลบ.ม. เมื่อวานนี้ก็มีน้ำเติมเข้ามาเยอะ หากเรายังรออยู่เราก็ยังปฏิบัติการได้ยากมาก ทีมที่อยู่บนเขาที่ค้นหาปล่อง-หลุม ซึ่งในการเจาะนั้นไม่ง่าย อย่างในชิลีเรารู้พิกัดชัดเจน ยังเจาะอยู่ 2 เดือน ซึ่งเรารอไม่ได้ ต้องยกความดีให้กับทีมลาดตระเวนด้วย ฉะนั้นขอปรบมือให้ทีมเดินสนามทุกทีม สำหรับทีมอีกทีมหนึ่งที่สำคัญคือ ทีมหมอ ที่มาจากที่ต่างๆ เพื่อช่วยเราในภารกิจนี้
นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า สำหรับในภารกิจที่ได้รับ ยืนยันได้ว่า มาตรฐานที่ใช้นั้นเป็นไปตามทฤษฎีอย่างชัดเจน ในระหว่างทำงานนั้น ผู้ป่วยทั่วไปยังไม่ได้รับผลกระทบในการดำเนินงานนี้ ผู้ป่วยชุดแรก 4 คน กลุ่มที่ 2 อีก 4 คน กลุ่มที่ 3 อีก 5 คน รวมกับซีลอีก 4 คนนั้น บาดเจ็บเล็กน้อย ผลเลือดก็ยังต้องรออยู่ เบื้องต้นต้องอยู่ในโรงพยาบาล 7-10 วัน และขอประเมินเป็นระยะๆ
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในตั้งแต่วันแรก คือการสำรวจโพรง ปล่องถ้ำ เราจะเป็นหน่วยงานสนับสนุน เราเป็นเครื่องจักรเล็กที่คอยขับเคลื่อน เครื่องจักรใหญ่ หน่วยซีล ทหาร ตำรวจ รวมมาจากหลายๆ หน่วยงานทั้ง ตร. ตชด. ทีมรังนก กู้ภัย ซึ่งภารกิจคือเพื่อค้นหาปล่องโพรง นอกนั้นสำรวจลำห้วย เพื่อเบี่ยงทางน้ำ ต้องขอบคุณท่านอธิบดีกรมชลฯ ด้วย ที่ทำให้เราต้องการข้อมูลในการดำเนินการ หากเราสังเกตด้วยตาเราจะไม่รู้เลยว่าน้ำหายไปตรงไหน จุดที่พบคือตรงห้วยน้ำดั้น ซึ่งน้ำหลุดเข้าไปตรงจุดนั้น แม้ว่าไม่ได้หลุดไปเป็นสายแบบลำห้วย แต่มันก็ไปบรรจบกันในถ้ำ นักธรณีวิทยาเอาเครื่องมือมาสำรวจและพิสูจน์ด้วยหลักวิชาการว่าน้ำมันหายเข้าไป หลังจากสำรวจเราขอกำลังเสริมเข้ามา รวมกรมอุทยานฯ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และชาวบ้าน ทั้งหมดได้ลงไปทำงานขนท่อกันขึ้นไป ถือว่าเป็นการบูรณาการ ท่อได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน ท่อมาถึงชาวบ้านก็ได้ช่วยกันแบกขึ้นไป ช่วยกันทำฝาย แล้วสอดท่อเข้าไปซึ่งปริมาณน้ำที่ดำเนินการไปนั้นก็ยังไม่เพียงพอ เมื่อตรวจสอบก็พบว่ามันยังมีน้ำหลุดเข้าไปอยู่ แต่ก็ใช้วิธีเดิมคือทำฝายเข้าไปอีกเพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำให้ไหลออกไปให้หมด ปิดทางน้ำได้ 32,000 ลบ.ม.
นายจงคล้ายกล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ อีกทีมหนึ่งก็เป็นทีมลำเลียงถังอากาศเข้าไป แต่ให้เอ่ยคงไม่หมดในภารกิจนั้นมีอีกหลายทีม คงกล่าวไม่หมด ทาง ผบ.มทบ.31 ก็ดึงน้ำออกด้านล่างได้อีก ซึ่งจากการคำนวณคร่าวๆ จะมีน้ำเข้าไปในถ้ำได้อยู่ แต่เราก็มั่นใจว่ายังควบคุมได้ สำหรับแผนฟื้นฟูด้านบนไม่ต้องเป็นห่วง แผนที่ทำออกมา กรมอุทยานฯ ทำเองไม่ได้ เพราะการบูรณการต้องอาศัยกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่องหน้าถ้ำ การปรับภูมิทัศน์ นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ในการปิดถ้ำ ประกาศตั้งแต่ 10.00 น.วันนี้ ของที่อยู่ด้านในก็ต้องเอาไว้แบบนั้น ปิดทองหลังพระหรือหน้าพระ สำคัญทุกหน่วยงาน ใครทำตรงไหน สำคัญทุกคนเท่ากันหมด
นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ทาง ปภ.ได้ประสานกับทางท่านผู้ว่าฯ ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อเรื่องที่ต้องหลายๆ อย่าง การประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัตินั้น ทำให้เราสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นในหลายๆ ส่วน เพราะภารกิจนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ เครื่องไม้จำนวนมาก เลยจำเป็นต้องเปิดเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็ได้ให้เราเบิกงบพิเศษเพราะจำเป็นต้องใช้ในหลายๆ ส่วน นำบุคคลากรจากหลายๆ สถาบันหลายๆ หน่วยงานมาพูดคุยกันและเลือกทางเรื่องที่ดีที่สุด อีกส่วนหนึ่งคือการสนับสนุนการพร่องน้ำ ซึ่งในครั้งแรกเราก็มองไปที่หนองน้ำพุ จึงไปสูบน้ำในส่วนนั้น
นายกอบชัยกล่าวต่อว่า ปภ.และกรมชลฯ จึงได้ไปสูบน้ำกันในจุดนั้นนั่นเอง ในการระบายน้ำในถ้ำนั้นทำให้เราต้องใช้เครื่องมือหลายๆ อย่าง จะเห็นว่าเราต้องใช้เครื่องสูบน้ำแบบต่างๆ มาใช้งาน แต่อย่างไรก็ตาม ในถ้ำเราก็ไม่สามารถนำเครื่องใหญ่ๆ เข้าไปได้ ในแต่ละวันเราก็เร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปทำการพร่องน้ำให้ได้ ก็ประสบผลดี สภาวะอากาศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาก็เป็นใจ ทำให้เราปฏิบัติการได้ ปภ.จังหวัด ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ผู้ว่าฯ ที่ทำแผน วางแผนต่างๆ ช่วยเหลือท่านผู้ว่าฯ ไม่ว่าจะเป็นแผนการช่วยเหลือ แผนการฟื้นฟูสภาพจิตใจ แผนการดูแลเกษตรกรด้านล่าง สุดท้ายเราได้ชี้แจงกับทางเอกชนไว้แล้วว่าจะยังขอเอาไว้ก่อนว่า เราจำเป็นต้องคงค้างอุปกรณ์นั้นๆ ไว้ในถ้ำก่อน เพราะน้ำอยู่ในถ้ำ ไม่ได้คาดการณ์เหตุการณ์พวกนี้ไว้ก่อน เราก็จะต้องถอดบทเรียนนี้ ไว้เรียนรู้ว่า ระบบต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อเราถอดบทเรียน เห็นปัญหาแล้ว เราก็จะได้แผนเผชิญเหตุ เพื่อให้ในแต่ละจังหวัดนำไปใช้ได้ในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต
นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นมีเกษตรประสบภัย 1,723 ไร่ ตั้งเครื่องสูบน้ำโดยกรมชลประทาน ตอนนี้สำรวจผู้ประสบภัย แปลงเสียหายโดยสิ้นเชิง 26 จ่ายเงินเยียวยา หลังจากน้ำจะประกาศจ่ายเงินภายในปลายเดือนกรกฎาคม ในส่วนการเยียวยาเบื้องต้นเมล็ดพันธุ์ข้าว แจกปัจจัยการผลิต ที่เกษตรจำเป็นต้องใช้เพาะปลูก น้ำท่วมที่นาทั้งหมด ช่วยเหลือเบื้องต้น
พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้นได้รวมปฏิบัติในสามส่วน กำลังพลทั้งหมด 900 กว่านาย ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ รถพยาบาล 7 คัน รถยนต์อีก 100 กว่าคัน ไม่นับอุปกรณ์อื่นๆ ภารกิจแรกคือ การรักษาความปลอดภัย ภารกิจด้านการจราจร ซึ่งจากถนนพหลฯ เข้าไปยังหน้างาน จำเป็นต้องมีการจัดการจราจรเป็น one way และเส้นทางคับแคบ ดังนั้น จึงต้องมีการขยายพื้นที่ออกมา และรวมไปถึงเส้นทางลำเลียงไปยังลาน ฮ. ซึ่งต้องดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกๆ ฝ่าย เพราะมีรถใหญ่ๆ เช่นรถโมบาย รถปั่นไฟ รถขนดิน ทำให้ต้องมีแบ่งกำลังจัดจุดตรวจต่างๆ มากมาย อีกส่วนหนึ่งคือการจัดระเบียบสื่อมวลชน เมื่อมีสื่อมีเยอะ ก็เลยต้องมีการจัดระเบียบกัน ซึ่งหลังจากนำสื่อมาด้านนอกแล้วทำให้การทำงานง่ายขึ้นด้วย ด้านอาชญากรรมก็ได้การดูแลทรัพย์สินของส่วนต่างๆ ซึ่งก็ได้ดูแล เฝ้าระวัง พบเหตุ 3 คดีด้วยกันก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ภารกิจดูแลชาวต่างชาติ ที่มาร่วมในภารกิจนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ ตม.เข้ามาช่วยเหลือต่างๆ กับชาวต่างประเทศที่มาช่วยงานเรา โดยชาวต่างประเทศที่เข้ามาช่วยเรานั้น ถือเป็นอาคันตุกะของเราก็ต้องดูแลกันไป ซึ่งได้ประสานงานกับหน่วยต่างๆ ในส่วนอื่นก็เช่น ทางอากาศก็มี ฮ.สนับสนุนทางอากาศต่างๆ มี ตชด. พลร่ม เข้าปฏิบัติงานด้านบนถ้ำ ตร.น้ำ ก็ไปช่วยหน่วยซีล ทีมดำน้ำ นอกนั้นก็เป็นเรื่องที่พวกเราร่วมมือร่วมใจกัน ก็ต้องขอบคุณทุกท่านที่ร่วมมือร่วมใจกันในการทำงาน
พล.ต.ต.ชูรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงาน ตร.ที่ร่วมกันปฏิบัติ มีทั้งหมด 13 หน่วยงานด้วยกัน หลายเชื้อชาติ หลากภาษาต่างหน้าที่ หากร่วมกันมีหนทางสู่ความสำเร็จได้
น.อ.อนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการพิเศษสงครามทางเรือ หรือหน่วยซีล กล่าวว่า “ผมลงพื้นที่มาถึงวันแรกราวตี 2 ก็ได้เข้าถ้ำไปราวตี 4 พวกเราเป็นชาวทะเล เมื่อได้รับรายงานว่าเหตุในถ้ำก็นึกไม่ออก แต่น่าจะไม่ยาก แต่พอเข้าไปในถ้ำก็รู้สึกว่า ไม่ใช่แล้ว มันมืดสนิท เส้นทางที่เข้าไป 3 กิโลเมตร ต้องปีน ต้องลอด-มุด วันแรกได้เริ่มดำน้ำ 7 โมงเช้า ซึ่งมุ่งหน้าเข้าไปในจุดที่คิดว่าน้องๆ ไป นั้น ตลอดเส้นทางนั้นพบว่าผนังถ้ำเป็น โคลนหนา มั่นใจได้ว่า ถ้ำนี้น้ำท่วมแน่ๆ ระหว่างตีห้าถึงสี่โมงเย็น ทำงานกันลืมเวลา แต่สังเกตว่าน้ำขึ้นเรื่อยๆ และขึ้นเร็วมาก ประมาณการแล้วว่า มีอันตรายแน่ๆ จึงต้องถอนตัวออกมา หลังจากนั้นก็ถอนตัวออกมา จากสถานการณ์ เราก็บอกท่านผู้ว่าฯ ว่าต้องสูบน้ำ แต่การสูบน้ำออกมานั้นพบว่า มันลดน้อยมาก เรารอเวลาไม่ได้ จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ ในระหว่างรอน้ำลด ทีมงานก็ดำน้ำ วางแผนไปเรื่อยๆ เราสามารถไปยัง 3 แยกได้ นั่นเป็นเหตุให้เราต้องรับบริจาคถังอากาศเพิ่ม ซึ่งระหว่างเรารอน้ำลดก็ไปเรื่อยๆ จากโถง 3 จนถึงจุดที่ชาวอังกฤษพบเด็กๆ ทั้ง 13 คน ใช้เวลา 5 ชั่วโมงจากจุดที่เราดำวันแรก จนถึงจุดที่พบเด็กนั้น เราประเมินจึงมั่นใจว่าไปได้”
น.อ.อนันต์กล่าวต่อว่า จึงได้เตรียมเสบียงต่างๆ อาหาร เจล แผ่นฟอยล์ ต้องเรียนว่า เราอยู่ในถ้ำ เราทำงานไม่รู้ว่าเวลาอะไรเพราะมันมืด เรารู้แค่ว่าเราดำน้ำกี่ชั่วโมง เรานับเป็นชั่วโมงอย่างเดียว ในครั้งแรกยึดกฎเลือกคนที่เก่งที่สุดไป 4 คน ครั้งที่ 2 ซึ่งก็ส่งหมอภาคย์ไปด้วย 2 ทีมแรก หายไป 23 ชั่วโมง นั่นเป็นความเครียดของผู้บังคับบัญชา ซึ่งต่างชาติดำไป 5 ชั่วโมง เราคิดว่าไม่เกิน 7 ชั่วโมง แต่ผ่านไป 23 ชั่วโมงแล้ว ชุดแรกถึงเพิ่งกลับมา และกลับมา 3 คนเท่านั้น ซึ่งอากาศที่ใช้นั้นเกือบหมดทุกคน ทำให้ต้องกลับมาแค่ 3 คน
น.อ.อนันต์กล่าวอีกว่า ผู้บังคับบัญชานั้นเครียดตลอดเวลา เพราะความมืด เราไม่คุ้นกับสภาพถ้ำ อากาศ และน้ำที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ แต่เรามีน้องๆ 13 คนรอเราอยู่ ซึ่ง 3 คนที่กลับมานั้น เข้าโรงพยาบาลทั้งหมด เนื่องจากสภาพร่างกายแย่มาก ทุกครั้งที่ผู้บังคับบัญชามาเยี่ยมก็ได้กำลังใจ ทุกครั้งที่มีรายงานว่าไม่พบโพรง-ปล่อง นั่นเป็นแรงกดดันที่ให้เราต้องเดินต่อ ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่ต้องระดมขวดอากาศมาวาง ทุกครั้งที่ส่งลูกน้องไปทำงาน 10 ชั่วโมง ก็มี 7 ชั่วโมง ก็มี ซึ่งมันก็ต้องลุ้นไปว่าจะกลับมากี่โมง จนประมาณตีหนึ่ง คู่บัดดี้ดำกลับมาคนเดียว และแจ้งให้เรารู้ว่า เกิดเหตุไม่ดี ซึ่ง 1 ชีวิต แลกกับ 13 ชีวิตมันก็ยอมรับได้ หน่วยเราถูกฝึกมาเพื่อเหตุแบบนี้อยู่แล้ว ในครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีของทีมเราที่ได้เห็นเทคนิคระดับ โลก ในการดำน้ำในถ้ำ ทำให้เราสามารถที่จะมีแนวทางในการพัฒนาแนวทางการรับมือกับภารกิจนี้ได้มากขึ้น