xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เท 350 ล้านเร่งตอม่อ 8 ต้นเชื่อม “ศรีรัช-โทลล์เวย์” เร่งตอกเข็ม ส.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทพ.แยกลุยสร้างเสาตอม่อ 8 ต้น 350 ล้าน ทางด่วนเชื่อม “ศรีรัช-โทลล์เวย์” ก่อนเตรียมตอกเข็มปลาย ส.ค.นี้ หลัง ร.ฟ.ท.ขีดเส้นเข้าพื้นที่บางซื่อ หวั่นกระทบสายสีแดง เร่งทำหนังสือถามกรมบัญชีกลางใช้วิธีจ้างเฉพาะเจาะจงโดยใช้รับเหมาสายสีแดงได้หรือไม่ เหตุเป็นพื้นที่ทับซ้อน   

นายสุทธิศักดิ์ วรรณวินิจ รองผู้ว่าฯ ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการทางเชื่อมทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2.6 กม. นั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ได้เห็นชอบให้ กทพ.แยกดำเนินการก่อสร้างฐานรากเสาตอม่อส่วนต่อเชื่อมจำนวน 8 ต้น ที่ต้องก่อสร้างในพื้นที่ของรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต วงเงิน 350 ล้านบาท ซึ่งจากการเจรจากับ ร.ฟ.ท. ล่าสุดกำหนดว่าจะต้องเข้าพื้นที่ก่อสร้างฐานรากเสาตอม่อทางเชื่อมฯ ก่อนปลายเดือน ส.ค. 2561 เพื่อไม่ให้กระทบต่อการก่อสร้างของสายสีแดง  

ขณะนี้ กทพ.ได้ทำหนังสือไปยังกรมบัญชีกลาง สอบถามกรณีการจ้างผู้รับจ้างแบบเฉพาะเจาะจงในการดำเนินการก่อสร้างฐานรากเสาตอม่อ 8 ต้นได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ของสายสีแดง จำเป็นต้องใช้ผู้รับจ้างของสัญญาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อของสายสีแดง คือ กิจการร่วมค้า เอสยู ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ดำเนินการเพื่อไม่ให้มีปัญหา

“เนื่องจากเสา 8 ต้นต้องอยู่ในพื้นที่ของสายสีแดง หากให้ผู้รับเหมารายอื่นเข้าไปจะมีปัญหาแน่นอน ตอนนี้เหลือความชัดเจนเรื่องการจ้างแบบเจาะจงทำได้หรือไม่ ขณะที่ ร.ฟ.ท.ขีดเส้นว่าจะต้องเริ่มสร้างในเดือน ส.ค.นี้ โดยมีพื้นที่เร่งด่วนจะต้องลงฐานรากของเสาจำนวน 2 ต้นโดยเร็วก่อนจากทั้งหมด 8 ต้น”

สำหรับการดำเนินโครงการทางเชื่อมทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2.6 กม.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2556 (PPP) ซึ่งใช้เวลาอีกนาน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะต้องชี้แจงเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)

สำหรับการลงทุนนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเป็นโครงการใหม่ หรือเป็นโครงการต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หากถือเป็นโครงการต่อเนื่อง กทพ.จะต้องดำเนินการตามกฎหมายร่วมลงทุนกับเอกชน ( PPP) ตามมาตรา 43 เพื่อเจรจากับเอกชนในการแก้ไขปรับปรุงสัญญาเดิม และนำเสนอคณะกรรมการกำกับฯ และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป  

โครงการทางเชื่อมดอนเมืองโทลล์เวย์ และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ ระยะทาง 2.6 กม. มีมูลค่าลงทุน 6,219 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้าง ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และรื้อย้ายสาธารณูปโภค  4,230.5 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้างจำนวน 13 แปลง 1 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา วงเงิน  272.67 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 135 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษา 107 ล้านบาท และค่าบริหารโครงการ 1,472 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น