สลค.! เวียนหนังสือด่วนที่สุด ยกเคสคดีค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ หลัง ครม. กำชับประเด็นจัดทำสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เน้น “เจ้าหน้าที่หรีอข้าราชการประจำ” ที่มีหน้าที่ เข้มงวด ติดตาม ดำเนินการใกล้ชิด ย้ำไม่ให้เกิดกรณีความเสียหายต่อประเทศเช่นนี้อีก เผย ครม. “19 มิ.ย.61” หารือมูลเหตุ ทำไทยต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ บริษัท วอลเตอร์ บาว เอจี ฟ้องรัฐบาลไทย เรียกร้องค่าเสียหาย 6 พันล้าน
วันนี้ (28 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน ถึง รองนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง, กรม, เลขา-คสช. ระบุว่า ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (19 มิ.ย. 61) เกี่ยวกับมูลเหตุที่ทำให้ไทยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ บริษัท วอลเตอร์ บาว เอจี (Walter Bau AG) ของเยอรมนี แล้วลงมติว่า ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐกำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการประจำ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน ให้เข้มงวดและติดตามการดำเนินการเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีความเสียหายต่อประเทศเช่นนี้อีก
สำหรับคดีค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ บริษัท วอลเตอร์ บาว เอจี หรือ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาอะไรกับกรมทางหลวง แต่เป็นเพียงหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งขายหุ้นในมือออกไปนานแล้ว ฟ้องรัฐบาลไทย เกิดขึ้นปี 2532 โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เปิดให้เอกชนเข้ารับสัมปทานก่อสร้างและให้บริการทางยกระดับดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กม. มีอายุสัญญา 25 ปี สิ้นสุดในปี 2557 เป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐบาลในอดีต
คดีนี้ บริษัท วอลเตอร์ บาว เอจี ฟ้องรัฐบาลไทย เรียกร้องค่าเสียหาย ในโครงการก่อสร้างโทลล์เวย์ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทเอกชนต่างชาติฟ้องร้องราชอาณาจักรไทย เป็นการนั่งพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการด้วยวาจาต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่าย และมีการสืบพยานบุคคล ที่สถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง
ทั้งสองฝ่ายหักล้างข้อกล่าวหากันว่า การที่รัฐบาลอนุมัติแบบล่าช้าทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างทางยกระดับ ฝ่ายไทยต่อสู้ว่าไม่เป็นความจริง กรมทางหลวงไม่ได้อนุมัติแบบล่าช้า แต่บริษัท ทางยกระดับฯ เป็นฝ่ายที่ส่งแบบล่าช้า และแบบที่ส่งนั้น บางครั้งมีการออกแบบเพื่อให้บริษัททางยกระดับฯ ได้รับประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
ข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลไทยไม่ยอมให้มีการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานฯ และบังคับให้มีการปรับลดค่าผ่านทาง ฝ่ายไทยต่อสู้ว่า ความล่าช้าในการปรับขึ้น ค่าผ่านทางมีสาเหตุมาจากข้อกำหนด ในสัญญาสัมปทาน การปรับขึ้นค่าผ่านทางต้องทำการ ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือแล้วเสร็จก่อน ซึ่งปรากฏว่าส่วนเชื่อมต่อ ระหว่างสนามบินกับทางยกระดับยังไม่แล้วเสร็จ
สำหรับที่มาที่ไปของคดีพิพาทดังกล่าว เริ่มต้นจากรายงานข่าวจาก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดี บริษัท ช.การช่าง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กทพ. ให้ชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย จากค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี) จำนวน จำนวน 9,000 ล้านบาท เนื่องจาก กทพ.ได้รับทางด่วนโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย (ลาภมิควรได้) โดยศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ กทพ. เป็นฝ่ายชนะคดี
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีข้อพิพาททางด่วนสายบางนา-ชลบุรี ซึ่งบริษัท ช.การช่าง เรียกค่าก่อสร้างเพิ่มเติม 6,200 ล้านบาท และ กทพ. แพ้คดีในชั้นคณะอนุญาโตตุลาการ จึงนำข้อพิพาทสู่กระบวนการของศาล ซึ่งปี 2549 ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ กทพ. ชนะคดีไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มตามที่บริษัท ช.การช่าง เรียกร้อง เนื่องจากการทำสัญญาก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี เกิดจากกระทำโดยไม่สุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ผูกพัน กทพ. ต่อมาปี 2551 บริษัท ช.การช่าง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องทางแพ่งกับ กทพ. โดยอ้างว่าคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2549 ทำให้ กทพ.ได้ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย กทพ.ต้องคืนทางด่วนให้กับโจทก์ เนื่องจากทางด่วนตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว กทพ.ต้องชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยจากค่าผ่านทาง เป็นเงิน 9,000 ล้านบาท
ต่อมาในวันที่ 15 ก.ย. 2554 ศาลพิพากษาให้ กทพ.แพ้คดี ต้องจ่ายเงิน 5,000 ล้านบาท แต่ กทพ.ได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2556 ให้ กทพ.เป็นฝ่ายชนะ ไม่ต้องชำระเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง จนกระทั่งวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในที่สุด