xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลือทั้งเพ ปลัดอุตฯ ปัดขอจ่ายชดเชย ยุติคดีเหมืองทองอัคราฯ ฟ้องเรียก 3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เหมืองแร่ทองคำอัคราฯ (ภาพจากแฟ้ม)
ปลัดอุตสาหกรรม ปฏิเสธข่าวรัฐบาลไทยล็อบบี้ขอจ่ายเงินชดเชยให้บริษัท คิงส์เกต ประเทศออสเตรเลีย เพื่อยุติการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 3 หมื่นล้านบาท จากการระงับกิจการเหมืองทองอัคราฯ ยืนยันยังอยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ พร้อมต่อสู้เต็มที่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

วันนี้ (9 มิ.ย.) นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า มีการล็อบบี้ขอจ่ายเงินชดเชยให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ บริษัท คิงส์เกตฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อขอยุติการฟ้องร้องค่าเสียหาย 30,000 ล้านบาท ไม่ต่อสู้ทางกระบวนการศาลระหว่างประเทศ กรณีรัฐบาลไทยสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และ เพชรบูรณ์ ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

นายพสุ กล่าวว่า จากการที่ บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท (Statement of claim) ในกรณีพิพาทกับราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย - ออสเตรเลีย หรือ TAFTA นั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ บริษัท คิงส์เกตฯ ได้มีการเตรียมการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากล ในการจัดเตรียมแนวทางการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างรัดกุม และเป็นเอกภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อประเทศชาติ ประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการ

กระทรวงอุตสาหกรรม ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และยังไม่มีการตัดสินชี้ขาดใดๆ รวมทั้งยังไม่มีการพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว สั่งระงับการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนบริเวณรอบๆ เหมือน ต่อมา บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ยื่นหนังสือให้ไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดย บริษัท คิงส์เกตฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัทเป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าคำสั่งปิดเหมืองทองคำดังกล่าวละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA)

อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีบริษัท คิงส์เกตฯ ติดสินบนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของไทยเพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการสำรวจและทำเหมืองทอง ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถนำมาเป็นข้อต่อสู้ในการเจรจาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ เพราะถือว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นการกระทำที่มิชอบในการดำเนินธุรกิจ โดยหากสามารถพิสูจน์ได้ว่าบริษัท คิงส์เกตฯ ติดสินบนจริง ก็แสดงว่า การออกใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองทองของบริษัท อัคราฯ เป็นการออกใบอนุญาตโดยมิชอบ ซึ่งถือว่าเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. อีกทั้งรัฐบาลไทยยังสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท อัคราฯ เนื่องจากการทำกิจการเหมืองทองของบริษัท อัคราฯ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม(ภาพจากแฟ้ม)


กำลังโหลดความคิดเห็น