กระทรวงอุตสาหกรรมตอกย้ำท่าทีรัฐบาลไทยพร้อมเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หลัง “คิงส์เกตฯ” ยื่นคำเสนอข้อพิพาทกรณีคำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองทองคำ ย้ำอีกไทยดำเนินการถูกต้อง สมควรแก่เหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท (Statement of claim) ในกรณีพิพาทกับราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ถือว่ายังไม่มีการตัดสินชี้ขาดแต่อย่างใด
ระหว่างนี้คณะอนุญาโตตุลาการจะต้องรวบรวมข้อมูลและพิจารณาพยานหลักฐานโดยละเอียดจากทั้งสองฝ่ายก่อนมีคำตัดสินชี้ขาดต่อไป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา โดยระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการนี้ คู่กรณียังสามารถหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันได้
รัฐบาลได้เตรียมการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการที่ผ่านมาในอดีตของบริษัท อัคราฯ โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น และที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากล เพื่อจัดเตรียมแนวทางการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างรัดกุม เป็นเอกภาพ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อประเทศชาติ ประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการ
จึงขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และมั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยเป็นมาตรการที่ถูกต้อง สมควรแก่เหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด
ทั้งนี้ บริษัท คิงส์เกตฯ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อัคราฯ ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ที่ผ่านมาประชาชนมีการร้องเรียนและคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำมาเป็นเวลานาน ว่าอาจส่งผลกระทบทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนในระยะยาว เป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 ระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนไว้ก่อน บริษัท คิงส์เกตฯ จึงใช้สิทธิตาม TAFTA ขอเจรจากับรัฐบาลไทย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงใช้สิทธิในการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของการยื่นคำเสนอข้อพิพาท (Statement of claim) ในครั้งนี้