สปน.ประชุมนัดแรกปี 2561 เดินหน้าสู้คดี “ไอทีวี” ทีวีเสรี ผิดสัญญา ย้ำต้องชำระค่าปรับสัมปทาน 1 แสนล้าน ตามข้อสั่งการนายกฯ รัฐต้องไม่เสียเปรียบ
วันนี้ (11 พ.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมคณะกรรมการศึกษาและเตรียมการต่อสู้คดีกรณีพิพาทระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากล่าสุด (21 มิ.ย. 2560) คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ประชุมนัดแรกหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ สปน.ดำเนินการเพือไม่ให้ฝ่ายรัฐเสียเปรียบ
การประชุมดังกล่าวเพื่อหารือกรณีอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยว่า ผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่จะต้องชำระให้แก่กันเป็นเงิน 2,890,345,205 บาท เท่ากัน สามารถนำมาหักกลบลบกันแล้วต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกัน คดีนี้แต่เดิม สปน.ได้เรียกร้องให้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ชำระจ่ายค่าปรับ และค่าสัมปทานค้างจ่ายรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่คณะอนุญาโตตุลาการได้ใช้วิธีคิดคำนวณอีกแบบทำให้ตัวเลขออกมาเท่าจำนวนดังกล่าว ซึ่งผู้เกี่ยวข้องใน สปน.ถึงกับออกมาระบุว่าเสมือนเป็นการเจ๊ากัน โดย สปน.ไม่เห็นด้วย
มีรายงานว่า คดีนี้แม้ทาง สปน.และอัยการสูงสุด เคยยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกค่าปรับจากไอทีวีแล้ว แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้ สปน.ไปดำเนินการตามระบบอนุญาโตตุลาการเช่นกัน สปน.และอัยการจึงอุทธรณ์เรื่องนี้ไปยังศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดก็วินิจฉัยคดีที่ไอทีวีฟ้องเสียก่อน โดยเห็นพ้องกับไอทีวีที่เสนอให้ตั้งอนุญาโตฯ ชี้ขาดปัญหาเรื่องค่าปรับที่ไอทีวียืนยันว่าไม่ได้ผิดสัญญา จึงไม่ต้องจ่ายสัมปทานและค่าปรับแก่ สปน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มาของการเรียกค่าปรับไอทีวีแสนล้านนั้น ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่บริษัทเครือชินคอร์ปอเรชั่น ของนายทักษิณ ชินวัตร เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในไอทีวี หลังจากนั้นในปี 2547 ได้ยื่นเรื่องต่อนุญาโตตุลาการเพื่อขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน และขอลดค่าสัมปทาน
ต่อมาอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2547 ลดค่าสัมปทานที่ไอทีวีต้องจ่ายให้ สปน.จากปีละ 1,000 ล้านบาท เป็น 230 ล้านบาท โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2545 และปรับโครงสร้างผังรายการ ลดสัดส่วนรายการข่าวและสารประโยชน์ จากไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
อย่างไรก็ตาม สปน.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้สั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว และศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2549 ให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการนั้น เมื่อไอทีวียื่นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืน เมื่อวัน 13 ธ.ค. 2549 ชี้ชัดว่า คำสั่งของอนุญาโตตุลาการไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากไม่ผ่านมติ ครม.และไอทีวีเป็นฝ่ายเพิ่มเติมเนื้อหาข้อความดังกล่าว ถือว่าการร้องของไอทีวีซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทาน เป็นการดำเนินการที่ไม่สุจริต และให้ไอทีวีจ่ายค่าปรับฐานผิดสัญญาย้อนหลังไปถึงปี 2547 รวมแล้วประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท
ต้นปี 2550 ไอทีวีได้ทำหนังสือยืนยันว่าจะจ่ายเฉพาะค่าสัมปทานค้างจ่ายจำนวน 2.2 พันล้านบาท ส่วนค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น ยืนยันให้ตั้งอนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อน แต่ สปน.ได้หารือกับทางอัยการสูงสุดแล้วว่าจะไม่ตั้งอนุญาโตฯ อย่างแน่นอน และจะฟ้องเรียกค่าปรับตามจำนวนนั้น
ต่อมา วันที่ 30 มี.ค. 2550 นายบัลลังก์ ปิ่นสากล อัยการผู้รับมอบอำนาจจาก สปน.ได้ยื่นฟ้องบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีไอทีวีผิดสัญญาสัมปทาน โดยเรียกค่าเสียหายและค่าปรับจำนวนเงิน 101,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าสัมปทาน 2,886 ล้านบาท ค่าปรับ 97,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยค่าสัมปทาน 570 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินคงค้างอีกกว่า 600 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ไอทีวีได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองขอให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2550 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำวินิจฉัย ยืนตามศาลปกครองกลางให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาระหว่างไอทีวี กับ สปน.โดยให้เหตุผลว่า การที่ไอทีวีเดินเรื่องให้อนุญาโตฯ ชี้ขาดข้อพิพาทเรื่องค่าปรับ แต่ สปน.ไม่ตั้งอนุญาโตฯ ศาลปกครองกลางจึงตั้งอนุญาโตฯ ให้ฝ่าย สปน.ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
ปัญหาค่าปรับไอทีวีจึงวนกลับมาที่อนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เมื่อกลางปี 2551 ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีกระแสข่าวว่า ได้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว ในช่วงที่นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายไอทีวี คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย
จากปี 2551 เป็นต้นมา การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการกรณีค่าปรับไอทีวี ถูกกลบด้วยสถานการณ์ทางการเมืองพลิกผันอยู่ตลอดเวลา จนแทบจะไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าใดๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตผู้บริหารสูงสุดของไอทีวี ได้มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนกระทั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รื้อฟื้นเรื่องดังกล่าวขึ้นมาในช่วงปลายปี 2558