“อัศวิน” เผยเตรียมซ่อมบำรุงเรือดับเพลิง 10 ลำ ไว้ใช้งานตามจุดต่างๆ เช่น โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถานดับเพลิงที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งพื้นที่ที่ติดกับ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ
วันนี้ (6 มิ.ย. ) เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเรือดับเพลิง ขนาด 38 ฟุต จำนวน 30 ลำ พร้อมอุปกรณ์ ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กรุงเทพมหานคร ที่เคลื่อนย้ายจากบริษัท ซีทโบ๊ต จำกัด เมืองพัทยา จ.ชลบุรี มายังสถานีดับเพลิงสามเสน กองปฏิบัติการดับเพลิง 3 เขตดุสิต
สำหรับการเคลื่อนย้ายเรือดับเพลิงนั้น กรุงเทพมหานครได้ทำการเคลื่อนย้ายเรือดับเพลิง จำนวน 30 ลำ พร้อมอุปกรณ์ ที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของหอการค้านานาชาติ (ICC) มีคำชี้ขาดสิ้นสุด (The Final Award) ให้กรรมสิทธิ์เรือดับเพลิง 30 ลำ พร้อมอุปกรณ์เป็นของกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครได้ทำการขนย้ายด้วยวิธีทางบก (ทางถนน) ระหว่างวันที่ 4 - 8 มิ.ย. 61 วันละ 6 ลำ เพื่อนำมาเก็บไว้ที่สถานีดับเพลิงสามเสน
จากนั้นจะทำการตรวจสภาพและความชำรุดของเรือว่ามีอะไรที่จะต้องซ่อมแซมบ้าง แล้วจัดทำแผนการซ่อมบำรุง เนื่องจากเรือดับเพลิงดังกล่าวจอดเก็บไว้ไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้มีอะไหล่หรือชิ้นส่วนประเภทยางและระบบหล่อเย็นเสื่อมสภาพ จึงต้องมีการตรวจสภาพและทำการซ่อมแซมให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะนำไปใช้งาน ซึ่งหลังจากทำการซ่อมแซมเรือดับเพลิงเรียบร้อยแล้วจะหาแนวทางในการแจกจ่ายเรือให้แก่สถานีดับเพลิงที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา หรือพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนตลอดลำน้ำเจ้าพระยาต่อไป
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า เรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานครเป็นเรือดับเพลิงขนาดใหญ่ ที่ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้เป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 สำหรับเรือดับเพลิงได้จอดไว้ที่ บริษัท ซีทโบ๊ต จำกัด เมืองพัทยา เดิมทีทางบริษัท ซีทโบ๊ต จำกัด จะเก็บค่าจอดเรือ แต่ภายหลังได้มีการพูดคุยถึงความจำเป็นและประโยชน์ของประชาชนทางบริษัท ซีทโบ๊ต จำกัด จึงไม่เก็บค่าจอด วันนี้ได้สักการะแม่ย่านางเรือ ให้ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่บนเรือได้รับความปลอดภัย
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายวันชัย ถนอมศักดิท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตั้งชื่อเรือทั้งหมด จากนั้นจะทำการซ่อมแซมเรือดับเพลิงก่อน จำนวน 10 ลำ จากนั้นดูความเหมาะสมในการแจกจ่ายเรือไว้ใช้งานตามจุดต่างๆ เช่น โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และสถานดับเพลิงที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะใช้งานตามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งบริเวณที่ติดกับ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ
นอกจากนี้ จะได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่มีความจำเป็นใช้งาน เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และนครสวรรค์ ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจังหวัดที่ติดฝั่งชายโขง เพราะกรุงเทพมหานครคงใช้งานเรือไม่ครบทั้ง 30 ลำ เนื่องจากเรือดับเพลิงมีขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าตามคูคลองต่างๆ ได้ ต้องใช้งานในคลองขนาดใหญ่ เช่น คลองบางกอกน้อย หรือคลองชักพระ ซึ่งจากการคาดการณ์คิดว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้งานเรือดับเพลิงเพียง 12 ลำเท่านั้น ซึ่งไม่อยากให้เสียประโยชน์จึงจะได้มีการหารือถึงแนวการใช้งานเรือทั้งหมดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า เบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้ตั้งงบประมาณในการซ่อมแซมเรือไว้ประมาณ 800,000 บาทต่อลำ เนื่องจากมีการจอดทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน แต่จะต้องมีการประเมินหรือตรวจสอบก่อนว่ามีอะไรชำรุดเสียหายที่ต้องซ่อมแซมบ้าง ซึ่งงบประมาณในการซ่อมแซมจะมากน้อยแตกต่างกันไป สำหรับการขนย้ายเรือดับเพลิงดังกล่าวได้ว่าจ้างบริษัท ปาล์ม แอนด์ ที จำกัด เป็นผู้ดำเนินการขนย้ายทั้งหมด ส่วนกรณีคดีรถและเรือดับเพลิงขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของศาล กรุงเทพมหานครไม่สามารถก้าวล่วงได้ รอฟังผล และมีหน้าที่ฟ้องไล่เบี้ยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่ามีใครที่ต้องรับผิดชอบบ้าง ซึ่งศาลยังไม่ได้มีการตัดสินว่าใครจะต้องรับผิดชอบเท่าไหร่ อย่างไร