บีทีเอสขยับช่องคลื่นความถี่ พร้อมเร่งติดอุปกรณ์กรองคลื่นสัญญาณรบกวนเพิ่มเติมตามคำแนะนำของ กสทช. เสร็จเย็นวันศุกร์นี้ ด้านทีโอทีปิดสัญญาณเสาส่งคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ชั่วคราว ส่งผลวันนี้ 28 มิ.ย.บีทีเอสไม่มีปัญหาใดๆ ยังไม่ไว้ใจ ถกคมนาคม จัดแผนรับมือเช้าวันจันทร์ 2 ก.ค. ขณะที่ชดเชยผู้โดยสารสรุปสัปดาห์หน้า
วันนี้ (28 มิ.ย.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมด้วย ดร.อาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดการ ได้แถลงข่าวร่วมกับ นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ปฏิบัติการแทนเลขาธิการ กสทช. และนายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กรณีเหตุขัดข้องในการเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25-27 มิ.ย. 2561 ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสาร
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บีทีเอส กล่าวว่า บริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ซึ่งสาเหตุของปัญหาการขัดข้องนั้นคาดว่ามาจากการกวนกันของสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอก ซึ่งการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสใช้ในระบบอาณัติสัญญาณ ย่านความถี่ 2400 เมกะเฮิรตซ์ ส่งผลให้ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง จึงส่งผลให้การเดินรถล่าช้ากว่าปกติ และทำให้มีผู้โดยสารสะสมมากในสถานีต่างๆ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยเมื่อวันพุธที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ณ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4 ฝ่าย คือ กสทช., บีทีเอส, ทีโอที และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค
ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่า กสทช.ได้ขอให้ทางทีโอทีปรับลดความเข้มสัญญาณของเสาส่งตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสลงเพื่อลดการรบกวนของคลื่นวิทยุ และแนะนำให้บีทีเอสย้ายคลื่นความถี่ที่ใช้จาก 2400 เมกะเฮิรตซ์ไปอยู่ในช่วงใกล้ 2500 เมกะเฮิรตซ์ที่สามารถทำได้ รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์กรองสัญญาณเพิ่มเติม
บีทีเอสจะเร่งดำเนินการเปลี่ยนระบบสื่อสารจากโมโตโรลา มาเป็น ม็อกซา (Moxa) ของไต้หวัน และย้ายช่องคลื่นความถี่วิทยุตามที่ กสทช.แนะนำ แล้วเสร็จในคืนวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย. ซึ่งเร่งรัดการดำเนินการจากเดิมที่จะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. เพื่อรองรับการเปิดเดินรถสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในเดือน ธ.ค. 2561 และเชื่อว่าการให้บริการในวันเสาร์ที่ 30 มิ.ย. 2561 จะกลับสู่ภาวะปกติ และทางทีโอทีจะกลับไปเปิดการส่งสัญญาณ พร้อมทั้งจะส่งมอบอุปกรณ์รับสัญญาณให้ทางทีโอทีช่วยตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ซึ่งในช่วงเช้าของวันที่ 28 มิ.ย. หลังจากได้มีการปรับลดกำลังส่งของเสาสัญญาณของทีโอทีลง ปรากฏว่าการเดินรถสามารถเดินได้ตามปกติไม่ขัดข้องใดๆ
ทั้งนี้ จะต้องประเมินในวันจันทร์ที่ 2 ก.ค.อีกครั้ง เพราะเป็นวันเปิดทำงานจะมีผู้โดยสารหนาแน่น ซึ่งบริษัทจะหารือกับกระทรวงคมนาคมตามข้อตกลงในเอ็มโอยู แผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุระบบขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมพร้อมรองรับหากเกิดปัญหาระบบขัดข้องได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ เพื่อความมั่นใจในระบบมากขึ้น บีทีเอสได้เพิ่มการติดตั้งตัวกรองคลื่นสัญญาณเพื่อป้องกันการรบกวน ซึ่งจะใช้เวลาติดตั้งประมาณ 1 เดือน
สำหรับมาตรการชดเชยค่าโดยสารในช่วงที่เกิดเหตุขัดข้อง ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. ซึ่งผู้โดยสารสามารถคืนตั๋วกรณีต้องการออกจากระบบ โดยบัตรประเภทแรบบิทการ์ด ทั้งแบบเติมเงินและเติมเที่ยว จะไม่มีการตัดเที่ยวหรือค่าเดินทางใดๆ ,บัตรประเภทใช้ครั้งเดียว จะสามารถออกจากระบบและเก็บบัตรโดยสารไว้ใช้งานได้ใหม่ ภายใน 14 วัน ตามมูลค่าเดิม
ส่วนมาตรการชดเชยอื่นๆ นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะสรุปในสัปดาห์หน้า เนื่องจากในโครงข่ายของบีทีเอสจะมีสายสีลม สายสุขุมวิท และส่วนต่อสำโรงและบางหว้า และยังมีในส่วนของผู้ถือตั๋วเดือนประมาณ 30% ของผู้โดยสารทั้งหมดที่อาจจะไม่ได้เดินทางในวันที่ระบบขัดข้องนั้นจะถูกจำกัดด้วย ต้องหามาตรการชดเชยให้เหมาะสม ซึ่งปกติจำนวนผู้โดยสารบีทีเอสเฉลี่ยจะมีประมาณ 6.6 แสนเที่ยว-คนต่อวัน โดยวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ จะมีผู้โดยสารเฉลี่ยถึง 7.4 แสนเที่ยว-คนต่อวัน
นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กสทช. กล่าวว่า การสรุปว่าคลื่นใดรบกวนแน่นอนจะต้องใช้เวลาตรวจสอบ ซึ่งคลื่นความถี่ที่ กสทช.อนุญาตให้บีทีเอสใช้ ช่วงย่านความถี่ 2400-2500 เมกะเฮิรตซ์ มีช่องสัญญาณ 20 ช่อง แต่เท่าที่ทราบบีทีเอสใช้ช่องสัญญาณประมาณ 3 ช่อง หากคิดว่าคลื่น 2300 รบกวน ให้บีทีเอสขยับไปใช้ความถี่ใกล้ๆ 2500 เมกะเฮิรตซ์
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า การย้ายช่องความถี่ช่วง 2480-2495 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด เพราะอุปกรณ์ของบีทีเอสเดิมมีช่องสัญญาณกว้าง จะไม่โฟกัสเท่ากับอุปกรณ์ตัวใหม่ที่จะแคบและบีบรับข้อมูลที่ต้องการชัดเจนกว่า และถูกรบกวนจากสัญญาณอื่นได้ยาก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าย่านความถี่ 2310-2370 ของทีโอทีที่มีระบบมือถือใช้อยู่จะไม่รบกวน 2400-2500 เมกะเฮิรตซ์แน่นอน
***แจงมีข้อมูลข่าวที่เป็นเท็จ
ในขณะนี้ได้มีการเผยแพร่ภาพ Infographic และข้อมูลเท็จจำนวนมาก ซึ่งระบุว่าผู้ใช้บริการสามารถโดยสารบนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทางบริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างการประเมินและพิจารณาเพื่อสรุปวิธีการเยียวยาผู้ใช้บริการซึ่งได้รับผลกระทบระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยจะประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่งผ่านช่องทางเฉพาะของบริษัทฯ เท่านั้น ในระหว่างนี้ขอให้ผู้ใช้บริการและสื่อมวลชนทุกท่านโปรดอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม และตรวจสอบข้อมูลทุกครั้ง
อนึ่ง สามารถรับข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากทางบีทีเอสเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข่าวสารกรณีเหตุการณ์เดินรถขัดข้อง และสามารถวางแผนการเดินทางได้ทันท่วงที โดยบริษัทฯ ได้ประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ทราบผ่านช่องทางทวิตเตอร์ www.twitter.com/bts_skytrain แอปพลิเคชันไลน์ @Btsskytrain และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/BTS.SkyTrain ซึ่งจะมีการแจ้งสถานการณ์ และรายการความคืบหน้าเป็นระยะ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับทราบเหตุขัดข้องและการแก้ไข
สุดท้ายนี้ ทางบริษัทฯ ต้องขออภัยอีกครั้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขให้ระบบไฟฟ้าบีทีเอสสามารถให้บริการได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด