กทม.จ่อเช็กบิล “บีทีเอส” ปรับ 1.8 ล้านบาท เซ่นเจ๊งซ้ำซาก หากพบมาตรฐานเดินรถต่ำกว่าเกณฑ์ 87.5% มอบสำนักจราจรฯ พิจารณาหลัง มิ.ย.นี้ ดูทั้งจำนวนเที่ยวที่มีปัญหา ความล่าช้า และความบกพร่อง แจงล้มเลิกสัมปทานไม่ได้ เผยติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณความถี่ MOXA เสร็จ 29 มิ.ย.นี้ พร้อมเดินรถด้วยความถี่ใหม่เสาร์นี้ เชื่อปัญหาลดลง
จากกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดเหตุขัดข้องบ่อยครั้ง ซึ่งเกิดจากระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้าขัดข้อง จากการถูกคลื่นภายนอกรบกวน ทำให้การเดินรถไม่เสถียร จนเกินผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมาก จนโซเชียลมีเดียเกิดกระแสเรียกร้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยกเลิกการให้สัมปทานบีทีเอส และให้แก้ปัญหาเรื่องคลื่นความถี่ใหม่
วันนี้ (28 มิ.ย.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ตนได้หารือกับทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ดูแลรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว ว่า จะมีการชดเชยเป็นรูปธรรมอย่างไรให้แก่ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากระบบขัดข้องดังกล่าว ซึ่งทางบีทีเอสขอเวลาในการหารือประมาณ 2-3 วัน ว่าจะชดเชยเยียวยาอย่างไร ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกสัมปทานบีทีเอสนั้น น่าจะลำบากและไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะตัวสัญญาไม่ได้เปิดช่องเอาไว้ในเรื่องนี้ แต่ กทม.ในฐานะเจ้าของสัมปทานสามารถปรับบีทีเอสได้ หากไม่สามารถเดินรถได้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด
“ในสัญญานั้นมีเงื่อนไขอยู่ว่า ผู้รับสัมปทานไปดำเนินการ จะต้องเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสให้มีประสิทธิภาพ ไม่ต่ำกว่า 97.5% ซึ่งจะมีวิธีการคำนวณอยู่ โดยผมได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง ไปคำนวณดูว่า ปัญหาขัดข้องจนต้องหยุดเดินรถในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้การบริการต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งหากพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์ทาง กทม.สามารถปรับบีทีเอสได้ ในอัตรา 0.6% ของค่าเดินรถทั้งเดือย ซึ่งค่าเดินรถเดือนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท หากปรับจริงก็อาจอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านบาท” นายสกลธี กล่าว
เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวน ได้กำชับให้ทางบีทีเอสแก้ปัญหาอย่างไรหรือไม่ นายสกลธี กล่าวว่า ตนได้กำชับทางบีทีเอสไปแล้วว่า เมื่อเกิดเหตุขัดข้องจะต้องมีมตรการเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 จะดำเนินการอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเป็นครั้ง และแก้ไขเป็นครั้ง ตนไม่ต้องการแบบนี้ ส่วนเรื่องปัญหาคลื่นนั้น บีทีเอสได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ 2,400 MHz การเดินรถจะวิ่งอยู่ที่คลื่น 2,400 MHz ต้นๆ โดยคลื่นที่มารบกวนคือคลื่นความถี่ 2,300 MHz ปลายๆ ซึ่งขณะนี้ทางบีทีเอาได้ใช้เครื่องม็อกซา (MOXA) ซึ่งเป็นเครื่องขยายสัญญาณ ซึ่งจะทำให้การเดินรถของบีทีเอสขยายไปอยู่ที่ความถี่ 2,400 MHz ปลายๆ เพื่อหลบเลี่ยงคลื่นรบกวน ซึ่งคาดว่าปัญหาน่าจะดีขึ้น แต่ไม่รับปากว่าจะหาย 100% โดยเวลา 19.00 น. วันที่ 28 มิ.ย. ที่ศูนย์หมอชิต ตนและทีมงานจะลงไปตรวจสอบการติดตั้งเครื่องขยายคลื่นความถี่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นได้รับรายงานว่าจะเสร็จภายในคืนวันที่ 29 มิ.ย. นี้ และสามารถให้บริการโดยความถี่ใหม่ในวันเสาร์ที่ 30 มิ.ย. 2561 ทั้งนี้ ตนจะมีการเรียกประชุมกับทางบีทีเอสให้บ่อยขึ้น ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่นั้น เป็นหน้าที่ของบีทีเอสที่ต้องหารือกับทาง กสทช. เพราะเป็นผู้รับสัมปทานไปดำเนินการ
นายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้บริหารระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส และไปว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (จำกัด) เดินรถอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น หากมีการปรับก็จะต้องคิดกับทางเคที ส่วนการพิจารณาว่าเดินรถไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 87.5% หรือไม่นั้น จะต้องรอให้สิ้น มิ.ย. 2561 ก่อนจึงจะประเมินสภาพการเดินรถทั้งเดือน มิ.ย.ได้ โดยจะมีการหารือกับทางเคที เพื่อทำความเข้าใจในตัวสัญญาให้ตรงกัน ส่วนการพิจารณานั้นจะดึงข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์มาดูทั้งเรื่องของจำนวนที่เกิดปัญหาต่ออัตราการเดินรถทั้งหมด ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่เกิน 5 นาที ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในเรื่องของการขนส่ง แต่ มิ.ย.ที่เกิดปัญหาขึ้นนั้น ก็เกินครึ่งชั่วโมง พบว่ามีถึง 2-3 ชั่วโมงที่เกิดความล่าช่า ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย รวมไปถึงพิจารณาว่าความบกพร่องที่เกิดขึ้นจากการถูกคลื่นรบกวนนั้นเป็นความบกพร่องของฝ่ายใด ของทางเคทีหรือไม่ ซึ่งก็ต้องรอข้อมูลจากทาง กสทช.ด้วย