“อุตตม” ปลื้มผลการเดินทางร่วมประชุมเวทีนิกเกอิฟอรัม (Nikkei Forum) ครั้งที่ 24 ประเทศญี่ปุ่น นักลงทุนขานรับพร้อมยกทัพลงทุนไทยต่อเนื่องทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอีไม่หวั่นการเลือกตั้ง ดึง Ryoki Tool ลงพื้นที่อีอีซีเร็วๆ นี้ หวังดันลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการเดินทางเข้าร่วมประชุมประจำปี International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 24 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมาว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมองไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะรัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของญี่ปุ่นมาลงทุนยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น และหนึ่งในเป้าหมายเป็นประเทศไทยและเป็นเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมค่อนข้างสูงจากก่อนหน้านี้นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาไทยจำนวนมากแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีการเลือกตั้งนักลงทุนญี่ปุ่นเองไม่ได้มีความกังวลต่อการเดินหน้าเข้ามาลงทุนแต่อย่างใดเพราะมีความเชื่อมั่นในนโยบายโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“นักลงทุนญี่ปุ่นเขาไม่ได้รอดูการเลือกตั้ง แต่เขารอดูว่าเราจะมีความต่อเนื่องในนโยบายหรือไม่ และเราก็ทำให้เห็นแล้ว ทั้ง พ.ร.บ.อีอีซีที่มีกฎหมายรองรับชัดเจนช่วยให้การดำเนินนโยบายมีความต่อเนื่อง ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนที่จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็ตามก็สามารถทำงานตามกรอบนี้ได้ทั้งหมด และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็มี พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติรองรับ” นายอุตตมกล่าว
การเดินทางไปญี่ปุ่น ได้เข้าพบกับนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) ซึ่งได้ยืนยันความต่อเนื่องของความร่วมมือภายใต้กรอบ Connected Industries และการพัฒนาเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันได้หารือกับทาเคชิ อูชิยามาดะ ประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น และในฐานะประธานสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทค (JTEC) ซึ่งแสดงความพร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงและเข้าใจการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็น
นอกจากนี้ เจเทค เมติ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ฝ่ายญี่ปุ่น กับฝ่ายไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น (สสท.) ตกลงร่วมกันที่จะตั้งกลุ่มกิจการร่วมค้า (Consortium) เพื่อที่จะจัดทำแผนการดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้แล้วเสร็จมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติขึ้นจริง
ขณะเดียวกัน ยังได้ชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 ราย โดยหลังเข้าพบนายยาซูฮิโร่ ฮาระ ซีอีโอบริษัท เรียลกิ ทูล (Ryoki Tool) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภาคพื้นเอเชีย (MRO) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเร็วๆ นี้จะเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุน รวมถึงบริษัท นาชิ ฟูจิโกชิ คอร์ปอเรชั่น ผู้จำหน่ายแขนกลหุ่นยนต์อันดับ 2 ในไทย ก็สนใจเข้ามาลงทุนในสายการผลิตแขนกลหุ่นยนต์ในไทยด้วยเพราะนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย