ศูนย์ Tokyo SME Support Center ครบรอบ 1 ปีในกรุงเทพฯ เผยผลสำเร็จเอสเอ็มอีไทย-ญี่ปุ่นเข้ารับคำปรึกษากว่าพันราย เกิดการเจรจาลงทุนสำเร็จกว่า 250 กรณี ชี้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนและทำการค้าในไทย แนะความร่วมมือที่เหมาะสม บริษัทญี่ปุ่นควรใช้บริษัทไทยเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกรุยทางไปสู่ตลาดโลก
นายมาซาฮิโกะ โฮซากา กรรมการผู้จัดการอาวุโส ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว (Tokyo SME Support Center) กล่าวในงานประชุมรายงานการเปิด Tokyo SME Support Center ในกรุงเทพฯ ครบ 1 ปี ว่า ศูนย์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมการค้าขายและลงทุนระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นกับไทย โดยผลการดำเนินงานมีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับคำปรึกษาแล้วกว่า 1,100 ราย แบ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 750 ราย และผู้ประกอบการไทย ประมาณ 300 กว่าราย และเกิดการจับคู่ลงทุนธุรกิจกว่า 250 กรณี
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมส่งเสริมเอสเอ็มอีระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดสัมมนาให้ความรู้ จัดพื้นที่สืบค้นข้อมูลธุรกิจ การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยญี่ปุ่น การพาผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาออกงานแสดงสินค้าในไทย และพาผู้ประกอบการไทยไปออกงานแสดงสินค้าที่ญี่ปุ่น รวมถึงยังมีการประสานงานเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนดูงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้ประกอบการของทั้งสองชาติเกิดความสัมพันธ์ที่กระชับมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อประโยชน์ต่อการค้าขายและลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับใน Tokyo SME Support Center ใน กทม.จะมีบริการต่างๆ เพื่อเอสเอ็มอีทั้งสองชาติ เช่น บริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจในท้องถิ่น ด้านกฎหมาย โดยทนายและผู้เชี่ยวชาญ แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ การส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงพื้นที่ทำงาน ประชุม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ด้านนายพหุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยว่า การดำเนินการของศูนย์ Tokyo SME Support Center ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาก่อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสองชาติอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้รับการถ่ายทอดความรู้ และขยายช่องทางตลาด โดยได้รับการสนับสนุนพาไปออกงานแสดงสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการมีผู้เชี่ยวชาญนำไปช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำตลาดได้สูงยิ่งขึ้น
ด้านนายฮิเดโทชิ อุเมกิ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษา Tokyo SME Support Center เผยว่า สำหรับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้ามาขอใช้บริการของศูนย์ ส่วนใหญ่จะมาขอรับปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติต่างๆ รวมถึงด้านแรงงาน และหาพันธมิตรการค้าชาวไทย ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มาใช้บริการศูนย์ ส่วนใหญ่จะขอรับคำปรึกษาด้านโอกาสในการส่งออกสินค้าไปประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เอสเอ็มอีญี่ปุ่นยังให้ความสนใจมาลงทุนและทำการค้าในประเทศไทยมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพราะมีพื้นฐานความพร้อมต่างๆ ทั้งด้านสาธารณูปโภค การเดินทาง อากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานนิสัยของชาวญี่ปุ่นที่เป็นคนจริงจัง เคร่งครัดในกฎระเบียบอย่างสูง ให้ความสำคัญเรื่องระเบียบวินัยเป็นอันดับแรก ส่วนคนไทยมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตสูง บางครั้งทำให้ทัศนคติไม่ตรงกัน ดังนั้น ความร่วมมือของเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นควรจะเริ่มจากปรับความคิดให้ตรงกัน โดยยอมรับในจุดเด่นและเรียนรู้ในจุดต่าง เพื่อจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
สำหรับวิธีการร่วมมือธุรกิจที่เหมาะสมของเอสเอ็มอีทั้งสองชาตินั้น บริษัทญี่ปุ่นควรเปลี่ยนจากให้บริษัทไทยเป็นผู้รับจ้างผลิตมาเป็นคู่ค้าที่ทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายจะขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่สามารถขยายตลาดไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และต่อเนื่องไปสู่ตลาดโลก โดยเอสเอ็มอีไทยจะได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจากเอสเอ็มอีญี่ปุ่นควบคู่ไปด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *