xs
xsm
sm
md
lg

บวท.ปรับแผนบริหารจัดการห้วงอากาศ ถกเวทีระดับโลกเชื่อมข้อมูลรับอุตฯ การบินโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิทยุการบินฯ เป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำหน่วยงานผู้ให้บริการจราจรทางอากาศทั่วโลก แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและเชื่อมโยงข้อมูล รองรับอุตฯ การบินในภูมิภาคเติบโต เผยไทยวางแผนใช้ห้วงอากาศด้านพลเรือนร่วมกับทหารบริหารแบบยืดหยุ่น เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่ม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยและนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุม CANSO Global ATM Summit 2018 ซึ่งบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เป็นเจ้าภาพ ว่า เวทีนี้จะมีสมาชิก 150 กว่าประเทศผู้ให้บริการจราจรทางอากาศทั่วโลก ร่วมหารือถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และยุทธศาสตร์แนวทางความร่วมมือนำ Big Data มาใช้บริหารจัดการจราจรทางอากาศ ซึ่งอุตสาหกรรมการบินของไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ปริมาณเที่ยวบินในปี 2561 สูงถึง 1 ล้านเที่ยวบิน หรือเติบโตถึง 6% และประเมินว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านเที่ยวบิน ขณะที่ภาพรวมการเติบโตกว่า 50% จะอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสนามบินหลักคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา ซึ่งมีแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 180-200 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินภูมิภาค ทั้งภูเก็ต และเชียงใหม่ มีแผนพัฒนาศักยภาพเช่นกัน ดังนั้น การจราจรทางอากาศจะต้องเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของ บวท.ที่จะต้องปรับแผนการบริหารจัดการห้วงอากาศเพื่อรองรับ โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศให้สอดคล้องกับรูปแบบความต้องการการใช้งานที่เปลี่ยนไป โดยใช้พื้นที่ห้วงอากาศร่วมกันระหว่างพลเรือนกับทหารเพื่อใช้ห้วงอากาศให้เป็นประโยชน์มากที่สุด การบริหารแบบยืดหยุ่นจะเป็นการสร้างมูลค่าจากอุตสาหกรรมการบิน

“การบริหารการบินต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก จึงต้องแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูล (Big Data) เพื่อบริหารต้นทุนและบริหารจัดการให้มีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด เตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนากฎหมายการเดินอากาศที่เน้นการบริหารจัดการห้วงอากาศร่วมกันระหว่างกองทัพอากาศกับพลเรือน” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์การพัฒนาคมนาคมขนส่งทางอากาศของประเทศไทย 20 ปี ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity) ของระบบการบินของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management: ATM) การบริหารจัดการห้วงอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิกเพื่อมุ่งไปสู่การบริหารจราจรทางอากาศแบบไร้รอยต่อ (Seamless ATM)

ทั้งนี้ มีบริษัทผู้ผลิตระบบอุปกรณ์/เทคโนโลยีด้านการบิน ผู้ผลิตระบบติดตามอากาศยาน ผู้ผลิตเทคโนโลยีการบริหารจราจรทางอากาศ รวมทั้งผู้แทนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมาพันธ์ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศนานาชาติ (International Federation of Air Traffic Controllers' Associations : IFATCA) สมาพันธ์นักบินนานาชาติ (International Federation of Air Line Pilots' Associations : IFALPA) และสายการบินเข้าร่วมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น