บอร์ด ทอท.อนุมัติแผนลงทุน 1.26 แสนล้านก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่ และภูเก็ตแห่งที่ 2 ลดความแออัด คาดเฟสแรกรับผู้โดยสารได้ 10-15 ล้านคน/ปี หลังประเมินสนามบินเดิมขยายไม่พอการเติบโต เร่งสรุปแผนเสนอคมนาคม และขอ ครม.อนุมัติ นอกจากนี้บอร์ดยังเห็นชอบให้ ทอท.ตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารศูนย์ตรวจสินค้าที่สุวรรณภูมิ หนุนบริการด้านลอจิสติกส์
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ที่มี นายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ได้เห็นชอบในหลักการให้ ทอท.การดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 ประมาณการเบื้องต้นวงเงินลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งรวมประมาณ 1.26 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร และลดปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เนื่องจากการเจริญเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าปี 2581 สนามบินเชียงใหม่จะมีผู้โดยสารประมาณ 23.33 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 137,790 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทการพัฒนาจะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2568 โดยมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินภูเก็ตจะมีผู้โดยสารประมาณ 42.42 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 211,150 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทการพัฒนาจะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2565 จะมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่ 18 ล้านคนต่อปี
แม้ ทอท.จะมีการพัฒนาตามแผนแม่บทในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งทางอากาศตามที่มีการคาดการณ์ เนื่องจากมีข้อจำกัดของพื้นที่ท่าอากาศยาน จึงต้องมีการเตรียมการดำเนินโครงการก่อสร้าง สนามบินแห่งที่ 2 เพื่อมิให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันของประเทศ
โดยได้ศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการก่อสร้าง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในระยะแรกให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในเบื้องต้นประมาณ 10-15 ล้านคนต่อปี โดยมี 1 ทางวิ่ง ทั้งนี้ จากการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้าง เช่น ขนาดพื้นที่ ความสะดวกในการเดินทาง ห้วงอากาศไม่ทับซ้อนกับท่าอากาศยานในปัจจุบัน
ซึ่งพื้นที่เหมาะสมกับการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ส่วนพื้นที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ได้แก่ พื้นที่อำเภอโคกกลอย จังหวัดพังงา
“หลังจากนี้จะเร่งศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ รวมทั้งเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินก่อสร้างได้ก่อนที่ทั้ง 2 สนามบินจะเต็มขีดความสามารถ”
***เห็นชอบตั้งบริษัทร่วมทุน บริหารศูนย์ตรวจสินค้าที่สุวรรณภูมิ
นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติเห็นชอบในหลักการให้ ทอท.ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อบริหารโครงการในรูปแบบ ทอท.ร่วมทุนกับเอกชน เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ซึ่งจะสรุปแนวทางเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยในปัจจุบัน ทอท.ได้จัดโครงสร้างการบริหารเขตปลอดอากรและการขนส่งสินค้าทางอากาศใหม่เพื่อสนองตอบความต้องการในการใช้บริการที่รวดเร็วและปลอดภัย ทำให้ยอดการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 12.45% อยู่ที่ 1.42 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์ Certify Hub เป็นไปตามที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าและบริการด้านลอจิสติกส์เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคอาเซียน เชื่อมโยงการประกอบธุรกรรมทางการค้าในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าภาคเกษตรกรรมให้มีความได้เปรียบสามารถแข่งขันเวทีโลก และจากการที่ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยกำหนดให้ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ทอท.และท่าอากาศยานอู่ตะเภาสามารถประกอบกิจการเขตปลอดอากรโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตสำหรับสินค้าที่จะนำเข้ามาเพื่อส่งออกหรือเป็นศูนย์กระจายสินค้า ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการที่ต้องการประกอบกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
สำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทางให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรโดยการใช้ประโยชน์เขตปลอดอากรในการรวบรวม คัดแยกและกระจายสินค้าในกลุ่มภูมิภาค และเพิ่มความมั่นใจในการส่งออก รวมทั้งลดปัญหาการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง
เบื้องต้น ทอท.ได้ศึกษาข้อมูลกับท่าอากาศยานที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement (SAA)) กับ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยาน Munich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อพัฒนารูปแบบการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายและสินค้าเกษตรระหว่างกัน และท่าอากาศยาน Liege ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่ได้จัดให้มีโครงการ Green channel เพื่อตรวจสอบสินค้าเกษตร ประเภทไม้ดอกก่อนส่งออกจากประเทศต้นทางคือสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปียมายังประเทศปลายทางราชอาณาจักรเบลเยียม
นอกจากนี้ ทอท.ได้เข้าประชุมคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิตอลเพื่อนำเสนอโครงการ (Certify Hub) ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) ที่จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อต่อยอดความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออก