ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.สะดุด ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังคนช็อกราคาดีเซลจะทะลุลิตรละ 30 บาท แถมเจอค่าครองชีพพุ่ง คาดความเชื่อมั่นจะยังฟื้นตัวแบบอ่อนๆ ต่อไป เหตุต้องรอดูสถานการณ์น้ำมัน และการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ 80.1 ปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่ 80.9 และเป็นการปรับลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันลดจาก 55.3 อยู่ที่ 54.4 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ลดลงจาก 91.9 อยู่ที่ 91.3 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 75.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.3 ลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีเดือน เม.ย.
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และมีกระแสที่ราคาน้ำมันดีเซลจะทะลุ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยาเชิงลบต่อผู้บริโภค ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกช็อกและชะลอการใช้จ่าย, ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่ยังคงสูงขึ้น โดยดัชนีค่าครองชีพปรับลดลงมาอยู่ที่ 59.3 ต่ำสุดในรอบ 47 เดือน และเป็นครั้งแรกในรอบ 48 เดือนหรือ 4 ปีที่ผลสำรวจส่วนใหญ่ 51% ระบุว่าค่าครองชีพอยู่ในระดับแย่ และยังได้รับผลเชิงลบจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่นิ่ง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และความวิตกปัญหาสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
“ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นมีสัญญาณแผ่วปลาย ออกอาการสะดุด แต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่าปัจจัยลบที่เกิดขึ้นจะลากยาวนานไปกว่านี้ จึงมองว่าความเชื่อมั่นจะมีการฟื้นตัวแบบอ่อนๆ โดยต้องรอดูสัญญาณให้นิ่งก่อน โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และมาตรการตอบโต้กลับของสหรัฐฯ ในสงครามการค้า ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 และ 3” นายธนวรรธน์กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ยังคงคาดการณ์จีดีพีปีนี้โต 4.4-4.7% และมีโอกาสโตได้ที่ 4.5% เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ 8-10%