xs
xsm
sm
md
lg

นิวซีแลนด์พร้อมร่วมมือไทยผลักดันการเจรจา RCEP พร้อมหนุนไทยเข้า CPTPP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นิวซีแลนด์เข้าพบหารือ “พาณิชย์” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นการเจรจาการค้าเสรี ยันให้ความสำคัญกับการเจรจา RCEP พร้อมร่วมผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าตามเป้าในปีนี้ เผย ยังได้สนับสนุนไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลง CPTPP ด้วย

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับนายปีเตอร์ ไรเดอร์ อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการเจรจาการค้าในกรอบต่างๆ ทั้งการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) และความสนใจของไทยในการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (CPTPP) ตลอดจนความตกลงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP)

ทั้งนี้ ไทยและนิวซีแลนด์ เห็นพ้องกันว่า ทั้งสองประเทศสนับสนุนให้การเจรจา RCEP มีความคืบหน้าและบรรลุผลสำเร็จตามแผนการเจรจาที่ตั้งไว้ และนิวซีแลนด์แสดงความยินดีที่ไทยประสงค์จะเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยนิวซีแลนด์พร้อมที่จะให้คำแนะนำด้านเทคนิคแก่ไทย และทางนิวซีแลนด์ยังได้แจ้งอีกว่าได้เตรียมกระบวนการภายในเพื่อพร้อมให้สัตยาบันความตกลงฯ ภายในปีนี้ โดยคาดว่าความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2562 หลังจากนั้น กระบวนการรับสมาชิกใหม่จะเริ่มต้นขึ้นได้

นอกจากนี้ นิวซีแลนด์แจ้งว่าจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย - นิวซีแลนด์ ครั้งที่ 8 ในเดือน ก.ย. 2561 ที่นิวซีแลนด์ ซึ่งการประชุมนี้จะเป็นเวทีสำหรับทั้งสองประเทศในการขยายการค้าการลงทุนภายใต้กรอบ FTA ไทย -นิวซีแลนด์

ในปี 2560 ไทยกับนิวซีแลนด์มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2,282 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้เกือบ 2 เท่าตัว โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม ผักผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูป เนื้อสัตว์ และอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก เป็นต้น

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ TNZCEP แม้ไม่มีตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ในส่วนของการส่งออก เนื่องจากใช้ระบบการรับรองตนเองของผู้ส่งออก หรือ Self-Declaration แต่การใช้สิทธินำเข้าภายใต้ความตกลงในปี 2560 มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15 และเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 80 ของมูลค่านำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิหรือร้อยละ 56 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยสินค้านำเข้าภายใต้ TNZCEP ที่สำคัญ เช่น นมผง อาหารปรุงแต่งจากแป้ง กระดาษและกระดาษแข็ง นมเปรี้ยว โยเกิร์ตและแอปเปิล เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น