ผู้จัดการรายวัน 360 - จับตา ข้าวถุงหอมมะลิขึ้นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาจจะทะลุ 300 บาทต่อถุงปีนี้ ด้าน “เจียเม้ง” แบกไม่ไหวยื่นกรมการค้าภายในขอขึ้นราคา “ข้าวถุงหงษ์ทอง” เป็น 290 บาท จากเดิม 250 บาท
นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด หรือบีเอสซีเอ็ม (BSCM) ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารแบรนด์ “หงษ์ทอง” รายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ทำเรื่องถึงกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอปรับราคาขายข้าวถุงหงษ์ทอง ข้าวหอมมะลิ ขนาด 5 กิโลกรัม จากราคา 250 บาท เป็น 290 บาท เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตเพิ่มรวม 100% ขณะนี้อยู่ระหว่างการรออนุมัติ
“ปีนี้คาดว่าราคาข้าวหอมมะลิถุงขนาด 5 กิโลกรัม อาจจะปรับราคาขึ้นไปถึง 300 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตอนนี้ราคาเริ่มขยับขึ้นมาจาก 250 บาท เป็น 290 บาท หรือเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท เพราะผลผลิตข้าวหอมมะลิของไทยลดลง จากปริมาณผลิตได้รวม 7-8 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการตลาดยังสูงอยู่ และคาดว่าจากนี้ไปข้าวสายพันธุ์อื่นๆ คงจะปรับราคาขึ้นตามแน่นอน เช่น ข้าวหอมปทุมธานีปรับขึ้นกิโลกรัมละ 7-8 บาท และข้าวขาวปรับขึ้นกิโลกรัมละ 1-2 บาท จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นแต่ปริมาณผลิตน้อยลง” นายวัลลภกล่าว
สำหรับผลประกอบปี 2560 มียอดขายประมาณ 250,000 ตัน เติบโตจากปี 2559 15% รายได้รวม 5,000 กว่าล้านบาท โดยในแง่มูลค่าสัดส่วนรายได้มาจากไทย 40% และต่างประเทศ 60% ส่วนในแง่ปริมาณ มาจากไทย 55% และต่างประเทศ 45% ปีนี้ตั้งเป้าหมาย 6,000 ล้านบาท โดยข้าวถุงหงษ์ทองมีส่วนแบ่งในตลาดไทย 7% ยอดขายมาจากตราสินค้าของบริษัท คือ ตราหงษ์ทอง หรือ Golden Phoenix เป็นตราหลัก มากกว่า 85% และส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวหอมมะลิมากกว่า 95% และมีสินค้าตราอื่นๆ ของบริษัทฯ อีก 2-3 ตัว
ส่วนตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันส่งออกข้าวถุงไปแล้วกว่า 50 ประเทศ มีตลาดหลักคือ ฮ่องกง สัดส่วนรายได้ส่งออก 20% รองลงมาเป็น สิงคโปร์
บริษัทฯ วางแผน 5 ปีจากนี้ตั้งเป้าหมายส่งออกประมาณ 400,000 ตัน โต 10% ต่อปี ด้วยมูลค่าส่งออก 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีโรงสีในจังหวัดนนทบุรี, ศรีสะเกษ, ร้อยเอ็ด และสุพรรณบุรี เป็นฐานรับซื้อข้าวเปลือก และการผลิต ทั้งข้าวขาว ข้าวหอม มีกำลังการผลิตรวม 300,000 ตันต่อปี
“บริษัทฯ ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวที่ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ในชื่อ โครงการหงษ์ทองนาหยอด ในจังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ขณะนี้มีเกษตรกรชาวนาร่วมโครงการ 2,000 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 40,000 ไร่ ลดต้นทุนทำนา 20% และเพิ่มผลผลิต 20% ส่งผลให้เกษตรกรชาวนามีกำไรจากการทำนาข้าวโดยเฉลี่ยไร่ละประมาณ 3,000 บาท”
นางโสพรรณ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายข้าวแบรนด์ "ข้าวหงษ์ทอง" กล่าวว่า ข้าวหงษ์ทองเตรียมปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่เข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว โดยการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งทางสังคมออนไลน์อย่าง Website, Facebook, Instagram และ YouTube ปัจจุบันมีแฟนเพจที่ Active มากกว่า 200,000 ราย และขยายช่องทางการขายผ่าน E-Commerce รูปแบบของ Marketplace Platform ทั้ง Lazada, 11street, Shopee, Weloveshoping และกำลังจะดำเนินการบน JD Central โดยคาดว่าปี 2561 ช่องทางเหล่านี้จะโตกว่า 100% และมากกว่า 200% ในปี 2562
นอกจากนั้นก็มีช่องทางร้านค้าปลีกของเราเองชื่อ "หงษ์ทองเฮลท์สเตชั่น” มี 3 สาขา และล่าสุดซื้อกิจการร้านสินค้าสุขภาพ "ใบเมี่ยง" อีก 4 สาขา และอยู่ระหว่างการปรับกลยุทธ์ของร้านใบเมี่ยงกับร้านหงษ์ทองสเตชั่นใหม่ ล่าสุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ข้าวกล้อง "Zuper Rice" นำเอาข้าวกล้อง 3 สายพันธุ์มารวมกัน สารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวกล้องทั่วไปถึง 6 เท่า ขนาด 1 กก. ราคา 149 บาท และไตรมาสที่ 3 จะมีอีก 1 ตัวเป็นข้าวสำหรับคนที่ชอบข้าวนุ่ม ก่อนหน้านี้ก็ได้แตกไลน์สินค้านำข้าวไปพัฒนาเป็นสินค้าอื่น เช่น กลุ่มเครื่องดื่มน้ำนมข้าว และเครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าว เป็นต้น และอนาคตสนใจผลิตเกี่ยวกับสินค้าเครื่องสำอาง และสุขภาพอีกด้วย