“พาณิชย์” เปิดประมูลข้าวล็อตสุดท้ายเข้าอุตสาหกรรม ไม่ใช่คนกิน กับไม่ใช่คนและสัตว์กิน ปริมาณกว่า 2 ล้านตัน เดือน มิ.ย.นี้ เตรียมคลอดออกทีโออาร์ 4 มิ.ย. จากนั้นเปิดให้ดูข้าวในโกดัง ก่อนให้ยื่นซองราคา 14-15 มิ.ย. เผยมีมาตรการควบคุมไม่ให้หลุดเข้าสู่ตลาดคนบริโภค ย้ำหากพบทำผิดเล่นงานตามกฎหมายทั้งแพ่งและอาญา
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะประกาศเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) สำหรับข้าวสารที่เหลือในสต๊อกรัฐบาลปริมาณกว่า 2 ล้านตัน แยกเป็นข้าวกลุ่ม 2 ระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน 1.5 ล้านตัน และกลุ่ม 3 ระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ 5 แสนตัน ซึ่งเป็นข้าวล็อตสุดท้ายที่จะนำมาเปิดประมูล โดยทีโออาร์จะออกได้ในวันที่ 4 มิ.ย. 2561 และเปิดชี้แจงทีโออาร์วันที่ 5 มิ.ย. จากนั้นจะเปิดให้ดูคลังเก็บข้าวจนถึงวันที่ 8 มิ.ย. และวันที่ 11 มิ.ย. ให้ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ วันที่ 12-13 มิ.ย. ตรวจสอบคุณสมบัติ และจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 14 มิ.ย. สำหรับข้าวกลุ่ม 2 และเปิดให้ยื่นซองราคาในวันเดียวกัน ส่วนวันที่ 15 มิ.ย.ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติสำหรับข้าวกลุ่ม 3 และเปิดให้ยื่นซองในวันเดียวกัน ซึ่งข้าวทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อยื่นซองราคาแล้วก็จะเปิดซองทันทีหลังจากครบเวลาที่กำหนดไว้
“กรมฯ จะนำผลการประมูลข้าวที่ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ หากขายได้หมดก็จะทำให้ไม่เหลือข้าวอยู่ในสต๊อกรัฐบาลอีกต่อไป แต่ถ้าไม่หมดก็จะนำมาเปิดประมูลอีกจนกว่าจะหมด แต่มั่นใจว่าน่าจะเปิดประมูลขายได้หมดภายในปีนี้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์กล่าวว่า การตรวจสอบและติดตามข้าวที่ประมูล นบข.ได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแล และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีมาตรการควบคุมการรั่วไหลสู่การบริโภคของคนอย่างรัดกุม โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งการชี้แจงขั้นตอนการขนย้ายข้าว การนำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมที่กำหนด มีการตรวจสอบ และติดตามทุกขั้นตอน หากพบว่าผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา
ทั้งนี้ นอกจากการกำหนดให้ผู้ซื้อปฏิบัติตามตามสัญญา ยังได้ตรวจสอบไปถึงผู้รับซื้อข้าวต่อทุกรายเช่นเดียวกับผู้ซื้อรายแรก เพื่อให้นำข้าวไปใช้ตามเงื่อนไขของการประมูล และยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขในสัญญาโดยขยายขอบเขตความรับผิดชอบของคู่สัญญาให้ครอบคลุมผู้ซื้อทุกทอดด้วย
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำข้าวที่ประมูลเพื่อไปทำอาหารสัตว์มาปรับปรุงเข้าสู่ตลาดบริโภคนั้น ยืนยันว่า ทั้ง อคส. และ อ.ต.ก.มีระบบการตรวจสอบที่รัดกุม ชัดเจน และเมื่อพบรายใดกระทำผิดเงื่อนไข ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการประมูล เพราะในการประมูล หากตรวจสอบแล้วรายใด มีเงื่อนไขถูกต้องตามทีโออาร์ ก็เปิดให้เข้ามาประมูลได้ แต่เมื่อประมูลไปแล้ว ไปกระทำผิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดการทันที
สำหรับการประมูลข้าวตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้แล้วปริมาณ 14.84 ล้านตัน และวันที่ 16 พ.ค. 2561 จะเปิดให้ยื่นซองคุณสมบัติข้าวกลุ่ม 1 ซึ่งเป็นข้าวเพื่อการบริโภคปริมาณ 4.6 หมื่นตัน และยื่นซองราคาวันที่ 18 พ.ค. 2561