xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC เล็งปรับโครงสร้างธุรกิจไบโอฯ เปิดทาง GGC ซื้อหุ้นเสริมแกร่งชัดเจนปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พีทีที โกลบอลฯ จ่อปรับโครงสร้างธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือไบโอพลาสติก 4 บริษัทในเครือ หวังเสริมความแข็งแกร่งให้ GGC ในฐานะเป็นแกนนำธุรกิจGreen Chemical คาดชัดเจนในปีนี้ พร้อมดึงเนเชอร์เวิร์คส์ของสหรัฐฯ ลงทุนตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ในไทย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Chemical) หรือพลาสติกชีวภาพ ที่บริษัทร่วมถือหุ้นอยู่ประมาณ 4 บริษัทให้มีความเหมาะสม และสร้างศักยภาพในการแข่งขัน โดยเบื้องต้นรูปแบบการปรับโครงสร้างธุรกิจอาจจะคล้ายกับการปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท.ที่ให้พีทีที โกลบอล เคมิคอลเข้าไปซื้อหุ้น 6 บริษัทปิโตรเคมีที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่เมื่อก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้มากที่บริษัทฯ จะให้บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GCC) ซึ่งบริษัทแกนนำในธุรกิจ Green Chemical ของ PTTGC เป็นผู้ดำเนินการรับโอนหุ้นทั้งหมดในธุรกิจพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะไม่กระทบฐานะการเงิน GGC เพราะใช้เงินไม่มากในการดำเนินการซื้อหุ้นดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ภายในปี 2561

สำหรับ 4 บริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจ Green Chemical ประกอบด้วย บริษัท เอเมอรี่ โอลีโอเคมิคอล (Emery Oleochemicals) ที่ PTTGC ถือหุ้นอยู่ 50% ร่วมกับกลุ่มไซม์ ดาร์บี้ (Sime Darby) ดำเนินธุรกิจโอลีโอเคมิคอลทั่วโลก 2. บริษัท NatureWorks LLC ที่เป็นบริษัทร่วมทุนที่ PTTGC ถือหุ้น 50% และ Cargill USA ถือหุ้น 50% ดำเนินธุรกิจผลิตพลาสติกชีวภาพ ชนิด PLA ที่สหรัฐฯ และ 3. บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด ซึ่ง PTTGC ถือหุ้น 50% ร่วมทุนกับ Mitsubishi Chemical Corporation ตั้งโรงงานผลิตชีวภาพพลาสติกชนิด PBS ในไทย และ 4. บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การปรับโครงสร้างธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมสร้างภาระให้ GGC และผู้ถือหุ้น ดังนั้นบริษัทย่อยทั้ง 4 บริษัทนี้จะต้องมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งหลังจากที่ผ่านมาประสบปัญหาการขาดทุนอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลาสติกชีวภาพ

แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สถานการณ์ธุรกิจพลาสติกชีวภาพเริ่มดีขึ้นและเริ่มมีกำไรแล้ว ทั้งนี้ บริษัทยังมีรายละเอียดที่ต้องเจรจา เช่น พันธมิตรร่วมทุน และสัญญาเงินกู้ที่ต้องได้รับความเห็นชอบก่อน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 ของเนเจอร์เวิร์คว่า ขณะนี้โรงงานผลิต PLA แห่งแรกที่สหรัฐฯ เดินเครื่องจักรผลิตเต็มที่ 1.5 แสนตัน/ปี ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาขยายโรงงานแห่งที่ 2 โดยบริษัทต้องการให้เนเชอร์เวิร์คส์ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตแห่งที่ 2 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะลงทุนในพื้นที่ใด

เบื้องต้นทางเนเชอร์เวิร์คส์อยู่ระหว่างการพิจารณา 2 ทางเลือกว่าจะตั้งโรงงานในประเทศอื่นหรือลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งหากลงทุนในสหรัฐฯ ก็จะขยายโรงงานในพื้นที่เดิมซึ่งก็จะช่วยประหยัดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ลูกค้าต้องการให้เนเชอร์เวิร์คส์ตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง

ก่อนหน้านี้ PTTGC พยายามที่จะดึงเนเชอร์เวิร์คส์ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ในไทย โดยได้มีการเจรจากับรัฐบาลเพื่อขอการส่งเสริมทั้งด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อรั้งโครงการนี้ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต หลังจากรัฐบาลมาเลเซียก็เสนอเงื่อนไขต่างๆ เพื่อดึงโครงการนี้ไปตั้งที่นั่นเช่นกัน

แต่เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ทำให้โครงการนี้ต้องหยุดชะงักไป จนล่าสุดสถานการณ์ธุรกิจไบโอพลาสติกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากราคาน้ำมันดิบขยับตัวสูงขึ้นและโลกให้ความสำคัญต่อธุรกิจสีเขียว


กำลังโหลดความคิดเห็น