กพท.ประชุมร่วมอียู, EASA และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งเป้าส่งเสริมใช้เฮลิคอปเตอร์ในกิจกรรมด้านการแพทย์ เช่น เคลื่อนย้ายผู้ป่วยและกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เล็งนำร่องในพื้นที่ EEC
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. (CAAT) ได้เข้าร่วมการประชุม Helicopter Emergency Medical Services (HEMS) ซึ่งมี Mr. Henrik Hololei, Director General for Mobility and Transport (DG Move) หรือกระทรวงคมนาคมของสหภาพยุโรป (อียู) และผู้แทนจากสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป The European Aviation Safety Agency (EASA) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พร้อมด้วยผู้แทนจากกองทัพ กระทรวงสาธารณสุข และ Airbus Helicopter เข้าร่วมประชุม โดยมีวัตถุประสงค์ในการร่วมพัฒนาการบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางเฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้เพิ่มมากขึ้น
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กพท.ต้องการส่งเสริมกิจกรรมการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน โดยจะมีผลถึงการพัฒนาระบบการใช้เฮลิคอปเตอร์, จุดจอดเฮลิคอปเตอร์รับส่งผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ โดยจะทำโครงการนำร่องในพื้นที่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในการประชุมครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากประเทศใน EU และนำเฮลิคอปเตอร์ที่จะใช้ในการเคลื่อนย้ายมาแสดงด้วย
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะสอดคล้องกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2561 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตจัดตั้งสนามบิน พ.ศ.... เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอและออกใบอนุญาตจัดตั้งสนามบินสาธารณะให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยกฎกระทรวงดังกล่าวจะเริ่มใช้กับสนามบินส่วนบุคคลได้ก่อน ที่ปัจจุบันจะเป็นรูปแบบที่ขึ้นลงเครื่องบินชั่วคราว หรือเป็นของส่วนบุคคล เช่น โรงเรียนฝึกบิน หรือที่ขึ้นลงบนดาดฟ้าตึกสูง แท่นขุดเจาะ สำหรับเฮลิคอปเตอร์ หรือเครื่องบินเฉพาะแบบ เป็นต้น ซึ่งทั่วประเทศมีเกือบ 100 แห่ง