ผู้จัดการรายวัน 360 - “บีเจซี” เผยยอดขายรวมปีที่แล้ว 150,000 ล้านบาท กำไรโต 10% ปีนี้ลั่นพร้อมรุกต่อเนื่องทุกธุรกิจ ด้านบิ๊กซีทุ่ม 10,000 ล้านบาท เปิด 10 สาขาในไทย พร้อมปรับปรุงสาขาเดิม
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบีเจซีเมื่อปีที่แล้ว (2560) มีรายได้รวมประมาณ 150,000 ล้านบาท รวมถึงรายได้ของบิ๊กซูเปอร์เซ็นเตอร์แล้วด้วย และมีผลกำไรเติบโตประมาณ 10% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีและกำลังซื้อเริ่มฟื้นตัว
ทุกกลุ่มธุรกิจมีการเติบโตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีกบิ๊กซีก็เติบโตดี ธุรกิจผลิตก็เติบโตดี เร็วๆ นี้จะมีการประชุมบอร์ดบริหารเพื่อรับทราบถึงผลประกอบการและแผนงานต่างๆ โดยไตรมาสแรกปี 2561 นี้ ผลประกอบการก็เป็นไปในเชิงบวก ยังมีอัตราการเติบโตมากกว่าไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว
ขณะที่ในปีนี้ยังมีการลงทุนต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุนรวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของค้าปลีก บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีทั้งการปรับปรุงสาขาเดิมต่อเนื่อง เพื่อให้มีการบริการที่ดีขึ้น มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น และมีความทันสมัยต่อเนื่องในทุกแผนก โดยเฉพาะแผนกอาหารสด ที่เริ่มมีการปรับปรุงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มที่สาขาราชดำริ คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์
ส่วนตั้งแต่ต้นปีนี้มีการเปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 3 สาขา คือ ที่ จ.สกลนคร 2 สาขาในระดับอำเภอ ที่พังโคน และอำเภอคำตะกร้า และอีกแห่งที่สัตหีบ ที่ปีนี้คาดว่าจะมีการเปิดสาขาในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพฯ และจะเน้นในตลาดระดับอำเภอรวมทั้งในจังหวัดที่ยังไม่มีบิ๊กซีเปิดบริการ คาดว่าลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อสาขา
ทั้งนี้ บิ๊กซีได้ขยายเวลาเปิดปิดบริการสาขาที่อยู่ในย่านท่องเที่ยวเพื่อรองรับกำลังซื้อและตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวต่อเนื่อง โดยเปิดตั้งแต่ 09.00 น. และปิดบริการเวลา 02.00 น. จากเดิมปิดบริการ 22.00 น. แต่จะขยายเวลาเปิดเฉพาะในส่วนสโตร์เท่านั้น ส่วนพื้นที่ร้านค้าเช่าไม่ได้ขยายเวลา ขณะนี้เริ่ม 4 สาขา คือ ที่ ราชดำริ รัชดาภิเษก และ 2 สาขาที่ภูเก็ต อีกทั้งยังมีการทดลองเปิดมินิบิ๊กซีในบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ด้วย เริ่มที่สาขาราชดำริเพื่อทดลองโมเดลใหม่ๆ
ล่าสุดจัดงานเทศกาลผลไม้สดจากสวนปีที่ 2 บิ๊กซี สนับสนุนเกษตรกรไทย” เริ่มวันที่ 4-14 พฤษภาคมนี้ ที่สาขาราชดำริ โดยจัดให้มีการออกร้านผลไม้ที่ว่งตรงและจัดจำหน่ายโดยเกษตรกร รวมทั้งการจัดบุฟเฟต์ผลไม้ 3 วัน วันที่ 4-6 พฤษภาคมนี้ ราคา 399 บาทต่อคน เวลานาน 1 ชั่วโมง โดยมีไฮไลต์คือทุเรียน คาดว่าในงานนี้จะมียอดขายรวม 180 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว 10%
นายอัศวินกล่าวด้วยว่า ในปี 2561 บิ๊กซีมีนโยบายที่จะสนับสนุนเกษตรกรใช้เครื่องหมายรับรองต่างๆ เช่น การรับรองสถานที่ผลิตอาหาร การรับรองมาทตรฐานGMP โรงคัดบรรจุผลไม้ การรบรอมารฐานแหล่งเพาะปลูก GAP ในอนาคตสินค้าผักและผลไม้ที่ผ่านกรรมวิธีทางการผลิตทุกรายการ จะต้องแสดงเลข อย.บนบรรจุภัณฑ์ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จัดจำหน่ายที่บิ๊กซี
สำหรับโครงการบิ๊กซีผลไม้วงจรคุณภาพ หรือ BQL Big C Quality Line สามารถสืบย้อนกลับได้ว่าสินค้าส่งมาจากแปลงปลูกไหน เก็บเกี่ยวเมื่อใด จะร่วมมือกับเกษตรกรในการควบคุมแผนการผลิตตั้งแต่แหล่งผลิตที่เหมาะสม ดิน น้ำ สภาพแวดล้อมต่างๆ การควบคุมการใช้สารเคมี การตรวจสอบสารตกค้างเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ซึ่งเรามีสินค้า BQL รวม 30 กว่ารายการในปีที่แล้ว มียอดสั่งซื้อรวมกว่า 6,000 ตัน มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท และในปีนี้เราเตรียมพัฒนาสินค้ากับคู่ค้าหลายรายการ เช่น ทุเรียนทอดกรอบ ขนุน กล้วย มะขาม มะนาว เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย
“ตอนนี้เราสั่งซื้อสินค้าอาหารสดผักผลไม้โดยตรงจากเกษตรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางประมาณ 70% แล้ว จากเกษตรกรกว่า 65 รายหลัก จาก 59 จังหวัด และจะเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง” นายอัศวินกล่าว