“สนธิรัตน์” ถกภาครัฐและเอกชน ทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดบุรีรัมย์ เตรียมช่วยเหลือผู้ประกอบการสร้างแบรนด์บุรีรัมย์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน พร้อมประสานเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ ทั้งขายในห้าง ฟาร์มเอาต์เล็ต ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และเชื่อมโยงกับที่ท่องเที่ยว ส่วนการเพิ่มค้าชายแดน รับดันเปิดด่านสายตะกูเป็นด่านถาวร
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชนของจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดบุรีรัมย์ ที่โรงแรมครอสทู ไวบ์ บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2561 ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันกับภาคเอกชนว่ามีแผนที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาและสร้างแบรนด์บุรีรัมย์ ด้วยการยกระดับการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และสร้างความแตกต่าง เพื่อให้สินค้าเป็นที่จดจำและจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการในระดับฐานราก และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายรัฐบาล
“จะเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยช่วยพัฒนาสินค้าและบริการโดยใช้นวัตกรรม เพื่อพัฒนาสินค้าทางการเกษตรสินค้าชุมชน และจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าและบริการที่ผลิตได้ โดยจะทำการเชื่อมโยงตลาดให้เข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่เป็นพันธมิตรของกระทรวงฯ เชื่อมโยงให้นำเข้าไปจำหน่ายในฟาร์มเอาต์เล็ต และร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่กำลังจะมีถึง 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมถึงจะเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว หากมาเที่ยวที่บุรีรัมย์ จะต้องซื้อหาสินค้าอะไรไปเป็นของกิน ของใช้ ของฝาก ซึ่งจะทำให้สินค้ามีช่องทางจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น”
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า สำหรับการผลักดันการค้าชายแดน เห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้ประกอบการในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดและผลักดันให้จุดผ่อนปรนทางการค้าช่องสายตะกู ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด ตรงข้ามกับบ้านจุ๊บโกกี อำเภอบันเตียอำปึล จังหวัดอุดรมีชัย เป็นด่านถาวร เพื่อส่งเสริมและผลักดันการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นด่านที่มีโอกาสทางการค้าสูงมาก โดยเฉพาะการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค
ทั้งนี้ ได้แจ้งต่อภาคเอกชนไปว่า กระทรวงฯ มีแผนที่จะพัฒนาผู้ประกอบการตามแนวชายแดนให้มีขีดความสามารถในการเป็นผู้ส่งออก โดยจะจัดโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (YEN-D Frontier) รุ่นไทย-กัมพูชา ณ จังหวัดสระแก้ว ในช่วงต้นเดือน ก.ย. 2561 และจะเชิญผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากจังหวัดบุรีรัมย์เข้าร่วมโครงการด้วย และมีแผนที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนในด้านลอจิสติกส์ และเชื่อมโยงความร่วมมือด้านลอจิสติกส์ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับกัมพูชา เพื่อรองรับการค้าที่ขยายตัว รวมทั้งพร้อมที่จะช่วยจัดตลาดการค้า เช่น ตลาดนัดชายแดน เพื่อสนับสนุนการซื้อขายสินค้าในพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า และดึงประชาชนจากกัมพูชาเข้ามาซื้อสินค้าด้วย
ปัจจุบัน กัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย มีพื้นที่ติดกับ 7 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ แต่ละปีมีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดยปี 2560 มีมูลค่าการค้า 1.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.52% และเฉพาะจุดผ่อนปรนทางการค้าช่องสายตะกู มีมูลค่าการค้าในช่วง 2 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.พ.) รวม 30 ล้านบาท แยกเป็นส่งออก 21 ล้านบาท นำเข้า 9 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ปูนซีเมนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้ามือสอง และสินค้าทางการเกษตร