xs
xsm
sm
md
lg

รุกปั้นธุรกิจชายแดนโกอินเตอร์ ส่ง YEN-D หัวหอกสานสัมพันธ์เพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปี 2561 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเอาไว้ที่มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2560 ที่มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าตั้งเป้าเอาไว้สูงทีเดียวเมื่อเทียบกับเป้าหมายการส่งออกรวมของประเทศที่ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 8% โดยการจะไปสู่เป้าหมายมีวิธีการอย่างไร แผนงานเป็นแบบไหน ความคืบหน้าแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร ติดตามได้จากนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศคนปัจจุบันที่กำลังขับเคลื่อนงานอยู่ในขณะนี้

นายอดุลย์อธิบายถึงที่มาที่ไปของการกำหนดเป้าหมายการค้าชายแดนว่า การกำหนดเป้าหมายในปีนี้ถือว่าพิเศษกว่าปีก่อนหน้า โดยที่ผ่านมาได้ตั้งเป้ามูลค่าการค้าชายแดนเอาไว้เป็นมูลค่าว่าจะทำได้เท่านั้นเท่านี้ โดยรวมเอาการค้าชายแดนทุกอย่าง ทั้งการค้าชายแดน ผ่านแดน และหน้าด่าน ซึ่งตัวเลขหน้าด่านปกติมันวัดไม่ได้ เก็บสถิติไม่ได้ ก็เลยไม่อยากเอามาวัด ก็เลยเหลือแค่การค้าชายแดนและผ่านแดน และกำหนดเป้าหมายเป็นเปอร์เซ็นต์แทน ซึ่งจะทำให้วัดผลได้ และมองเห็นภาพการค้าชายแดนได้จริง

“หลังจากปรับวิธีการเก็บสถิติการค้าชายแดน พบว่าการค้าชายแดนในช่วง 2 เดือนของปีนี้ก็ยังเติบโตได้สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยทำได้มูลค่า 2.14 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.53% สูงกว่าเป้าที่กำหนดไว้ เป็นการส่งออกมูลค่า 1.20 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.07% นำเข้ามูลค่า 9.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.83% และประเมินว่าแนวโน้มการค้าชายแดนจะยังขยายตัวได้เป็นบวกต่อไป เพราะกรมฯ ได้มีแผนงานที่จะขับเคลื่อนการค้าชายแดนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี”

นายอดุลย์กล่าวต่อว่า เพื่อให้การค้าชายแดนขยายตัว กรมฯ มีแผนที่จะเร่งขยายการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในอาเซียน โดยมีนโยบายมุ่งบุกเจาะตลาดเมืองรองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเน้นการขยายตลาดการค้าการลงทุนไปยัง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) เป็นพิเศษ รวมถึงเมืองรองในมาเลเซียและอินโดนีเซียมีแผนที่จะผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าไปทำการค้า การลงทุนกับเมืองรองเป้าหมาย ผลักดันการตั้งจุดกระจายสินค้า การจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยกับ CLMV การจัดคณะผู้แทนไปเยือนเมืองรอง และการจัดมหกรรมการค้าชายแดน 4 ภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการค้าขายและการบริโภคสินค้าไทย

สำหรับเมืองรองเป้าหมาย เช่น แขวงจำปาสัก ของ สปป.ลาว ที่เป็นแขวงทางตอนใต้ มีการขยายตัวของธุรกิจด้านการก่อสร้าง ทั้งการสร้างถนน สร้างเขื่อน และท่องเที่ยว, เมืองกว่างนิงห์ เวียดนาม อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีระบบคมนาคมทางน้ำและทางบกที่สะดวก มีท่าเรือน้ำลึก มีชายแดนติดจีน มีจุดผ่านแดนนานาชาติ 3 แห่ง, รัฐฉาน พม่า จะเน้นการติดตามการผลักดันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้า และผลักดันเอกชนเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว, เมืองอลอสตาร์ รัฐเคดาห์ มาเลเซีย ที่ติดกับจังหวัดสงขลาและยะลา มีโอกาสในการขยายการค้า และเมืองเมดาน อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 เป็นศูนย์กลางการค้าและมีนักธุรกิจชาวจีนอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ จะใช้กลไกของโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่รู้จักในชื่อ YEN-D เป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อนการค้าชายแดนแบบถาวร โดยที่เรียกว่าแบบถาวรเพราะโครงการนี้เป้าหมายคือ การสร้างเพื่อน เมื่อเป็นเพื่อนกันแล้ว การค้า การลงทุนจะตามมาเอง และเมื่อค้าขายกันแล้ว ก็จะมีความยั่งยืน ทำให้สามารถขยายการค้า การลงทุนระหว่างกันได้ต่อเนื่องและตลอดไป

“เราทำมาแล้ว 3 ซีซัน รวม 14 รุ่น มีนักธุรกิจในเครือข่าย 860 คน ตอนนี้คนเหล่านี้ค้าขายกันมียอดรวมกว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เก็บได้ แต่ที่เก็บไม่ได้มันมีมากกว่านี้ แต่เขาค้าขายกันเพิ่มขึ้นตลอด และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการอบรมซีซัน 4 เป้า 240 คน ซึ่งมั่นใจว่าจะสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจมาช่วยขับเคลื่อนการค้าชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้น” นายอดุลย์กล่าว

นายอดุลย์กล่าวว่า ที่พิเศษก็คือ จะมีการจัดทำโครงการ YEN-D ย่อยๆ หรือที่เรียกว่า YEN-D Frontier โดยมีแผนที่จะมุ่งไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเข้าไปช่วยสร้างความเป็นเพื่อนระหว่างนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยกับเพื่อนบ้าน ลักษณะก็เหมือนกับโครงการ YEN-D แต่มันย่อยลงมา เจาะจงแค่ชายแดน ซึ่งมีแผนจะดำเนินการที่ จ.สระแก้ว น่าจะ มิ.ย.หรือ ก.ค. สงขลา เดือน ก.ค. และหนองคาย เดือน ส.ค.หรือ ก.ย.

“เป้าหมายของเราต้องการช่วยขับเคลื่อนผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการชายแดน ให้มีโอกาสในการทำการค้า การลงทุนกับเพื่อนบ้าน เพราะคนเหล่านี้ทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่อาจจะทำแค่ภายในประเทศ เราจะไปช่วยหาโอกาสให้เขาออกไปต่างประเทศ ออกไปค้าขายกับเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโต”

ขณะเดียวกัน เมื่อฝึกอบรมและได้นักธุรกิจรุ่นใหม่แล้ว กรมฯ จะจัดโครงการคืนสู่เหย้าของชาว YEN-D หรือ YEN-D Reunion ไม่จำกัดว่าจะเป็นรุ่นไหน อบรมมาก่อนมาหลัง แต่จะถือว่าทุกคนเป็น YEN-D และเปิดโอกาสให้มาทำความรู้จัก แนะนำตัวกัน เพื่อสร้างโอกาสต่อยอดในการทำธุรกิจ

ไม่เพียงแค่นั้น จะมีการต่อยอดผลักดันผู้ประกอบการ YEN-D ไปเพิ่มและขยายความร่วมมือกับผู้ประกอบการนอกเหนือจากกลุ่มประเทศ CLMV หรือที่เรียกว่า YEN-D Plusซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกับญี่ปุ่น เป็นการอบรมร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเชียของญี่ปุ่น ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถขยายความร่วมมือในการค้าขายออกไปได้เพิ่มขึ้น และมีแผนที่จะดำเนินการกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ YEN-D Frontier และจะทำกับสิงคโปร์ อินเดีย และเกาหลีใต้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น