xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานไทยแบกหนี้หลังแอ่นครัวเรือนละ 1.37 แสนบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โพลเผยกลุ่มแรงงานไทยแบกหนี้หลังแอ่น เฉลี่ยครัวเรือนละ 1.37 แสนบาท เพิ่มขึ้น 4.95% มูลค่าสูงสุดในรอบ 10 ปี เหตุมีการก่อหนี้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ลงทุน และหนักสุดกู้หนี้ไปใช้หนี้เงินกู้ เผยส่วนใหญ่บ่นรายได้ไม่พอรายจ่ายหลังสินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง ส่วนวันแรงงานคาดเงินสะพัด 2,193 ล้านบาท เพิ่ม 3.7%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท/เดือน จำนวน 1,194 ตัวอย่างทั่วประเทศ เพื่อสอบถามสถานะแรงงานไทย พบว่า ภาระหนี้สินครัวเรือนของแรงงานไทยปี 2561 เฉลี่ยเป็นหนี้ 1.37 แสนบาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.95% โดยมีมูลค่าสูงสุดรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2552 โดยแบ่งเป็นการกู้หนี้ในระบบ สัดส่วน 65.4% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 10.6% ต่อปี และกู้หนี้นอกระบบ สัดส่วน 34.6% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 20.1% ต่อเดือน

ทั้งนี้ แรงงานไทยทั้งหมดมีสัดส่วนถึง 96.0% ที่ตอบว่ามีหนี้ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงสุดรอบ 10 ปี โดยผู้ตอบส่วนใหญ่ 36.1% ตอบสาเหตุที่ต้องเป็นหนี้ว่าต้องการนำเงินไปใช้จ่ายทั่วไป รองลงมาก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ลงทุน ซื้อบ้าน รักษาพยาบาล และใช้หนี้เงินกู้ ส่วนการผ่อนชำระ มีการใช้หนี้ประมาณเดือนละ 5,326 บาท และในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ 85.4% เคยผิดนัดชำระหนี้เพราะรายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้สินมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามภาระหนี้สินในปัจจุบันส่งผลต่อการใช้จ่ายภาพรวมหรือไม่ ผู้ตอบส่วนใหญ่ 45.7% ระบุการใช้จ่ายในปัจจุบันยังคงเท่าเดิม แต่การใช้จ่ายในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ผู้ตอบ 47.2% ระบุจะใช้จ่ายลดลง และเมื่อสอบถามว่ามีรายได้ไม่พอรายจ่ายหรือไม่ ส่วนใหญ่สัดส่วน 68.5% ตอบมีปัญหา เพราะรายได้ไม่เพิ่มแต่ค่าครองชีพเพิ่ม ราคาสินค้าสูงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น มีของต้องการซื้อมากขึ้น และรายได้ลดลง โดยสัดส่วน 65.1% ยังตอบว่าไม่มีอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่ม

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงหยุดวันแรงงานวันที่ 1 พ.ค. 2561 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายของกลุ่มแรงงานประมาณ 2,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% โดยมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 เพราะการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่วนกิจกรรมที่แรงงานจะทำในช่วงวันแรงงาน คือ ท่องเที่ยว สังสรรค์ รับประทานอาหารนอกบ้าน ดูหนัง ซื้อของ เป็นต้น

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำที่มีผลไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ผู้ตอบส่วนใหญ่ตอบว่าเหมาะสมปานกลาง และต้องการให้รัฐบาลปรับเพิ่มค่าแรงงานขึ้นทุกปี ซึ่งต้องปรับเพิ่มให้เท่ากับค่าครองชีพที่เพิ่ม รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลลดปัญหาการว่างงาน ควบคุมราคาสินค้า แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ดูแลประกันสังคม ลดดอกเบี้ยเงินกู้ และควบคุมหนี้นอกระบบ

นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจกำลังซื้อของกลุ่มแรงงาน พบว่ามีการฟื้นตัวแต่ยังเปราะบางมาก และเมื่อรวมกับรายได้ของภาคเกษตรที่ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน ก็ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในกลุ่มฐานรากยังไม่ดีนัก เพราะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของโครงการประชากรไทย โดยเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวในช่วงนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคการท่องเที่ยวและส่งออกที่ฟื้นตัว

“รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา ต้องเร่งงบกลางเข้าระบบท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และดูแลราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งเร่งโครงการลงทุนของภาครัฐ เพราะปัจจุบันเม็ดเงินเหล่านี้ยังลงไประบบท้องถิ่นช้า บริษัทก่อสร้างที่ได้รับงานก็เป็นรายใหญ่ แต่รัฐบาลต้องกระจายงานให้ถึงบริษัทก่อสร้างรายย่อยด้วย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เติบโต 4.2-4.4% โดยศูนย์ฯ ยังคงไม่ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังคงคาดการณ์เติบโตที่ 4.2-4.6%” นายธนวรรธน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น