xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ถกรับฟังความคิดเห็นเข้าร่วม CPTPP เอกชนหนุนสุดตัว เหตุเห็นโอกาสการค้า การลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ถกรับฟังความเห็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เผยเอกชนหนุนสุดตัวเพราะเห็นโอกาสทางการค้า การลงทุน ภาครัฐ พร้อมศึกษากฎระเบียบ กฎหมาย ส่วนภาคประชาสังคมกังวลการเข้าร่วมบางข้อตกลง เตรียมนัดหารือเป็นรายข้อตกลงอีก ก่อนสรุประดับนโยบายตัดสินใจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมการประชุมรับฟังความเห็นเบื้องต้นต่อความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP เพื่อเตรียมความพร้อมของไทย โดยผลการประชุมครั้งนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เนื่องจากจะช่วยขยายการค้า ดึงดูดการลงทุน และเสริมสร้างขีดความสามารถของสินค้า และบริการของไทย เข้าสู่ตลาดของสมาชิก CPTPP และตลาดโลก และยังเป็นการเพิ่มความได้เปรียบให้แก่ไทย เพราะขณะนี้มีหลายประเทศที่สนใจเข้าร่วม CPTPP เช่น เกาหลี สหราชอาณาจักร และโคลอมเบีย เป็นต้น

ส่วนภาครัฐ มีความเห็นว่า CPTPP ได้ตัดบทบัญญัติหลายส่วนที่เสนอโดยสหรัฐฯ และเป็นเรื่องที่ไทยมีข้อกังวลออก เช่น การใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนกับสัญญาการลงทุน หรือการอนุญาตการลงทุน การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผล การขยายระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น แต่ CPTPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง จึงต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากบางข้อตกลงไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติของไทย และจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งอาจต้องการระยะเวลาในการปรับตัว แต่ทั้งนี้ ก็มีหลายข้อตกลงที่สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกับแผนการปฏิรูปของไทย

ขณะที่ภาคประชาสังคม มีข้อกังวลเรื่องการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) และการนำข้อตกลงที่ชะลอการมีผลบังคับใช้ไปแล้วกลับเข้ามามีผลต่อสมาชิกใหม่หากสหรัฐฯ เปลี่ยนใจกลับมาเป็นสมาชิกอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้สมาชิก CPTPP เคยชี้แจงไว้ว่าเป็นความตั้งใจที่จะดึงเรื่องอ่อนไหวที่เป็นความต้องการของสหรัฐฯ ออกจากการมีผลใช้บังคับ และหากจะนำกลับเข้ามาจะต้องเป็นฉันทามติของสมาชิกทั้งหมด โดยกรมฯ ได้ชี้แจงว่าจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาข้อบท CPTPP อย่างรอบด้าน และจะหารือผู้เกี่ยวข้องบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อไป

“การจัดรับฟังความเห็นครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยกรมฯ มีแผนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือในรายละเอียดแต่ละข้อตกลง รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมเรื่องผลดี ผลเสีย และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายต่อไป” นางอรมนกล่าว

สำหรับความตกลง CPTPP ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดย CPTPP จะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบันตามขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งคาดว่า CPTPP น่าจะมีผลใช้บังคับอย่างเร็วประมาณต้นปี 2562


กำลังโหลดความคิดเห็น