xs
xsm
sm
md
lg

อวสาน “วาไรตี 4 ทุ่มครึ่ง” เอเยนซี “เซย์โน” งดซื้อแอดฯ หลังเที่ยงคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

1. วราวุธ เจนธนากุล ประธานกรรมการ บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด
ผู้จัดการรายวัน 360 - มองทะลุจอ โฆษณาบนสื่อทีวี 50,000 กว่าล้านบาทถึงเวลาปิดตำนานรายการดังหลัง 4 ทุ่มครึ่ง ลาจอเกลี้ยงเกือบหมดทุกช่อง เหตุสื่อทะลักผู้ชมมีสิทธิ์เลือกหลากหลาย รายการดีๆ อัดให้ชมทั้งวันโดยเฉพาะไพรม์ไทม์ช่วงเย็น เอเยนซีเอ่ยปากหลังเที่ยงคืนไม่ซื้อโฆษณาบนสื่อทีวีอีกต่อไป เกมเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์แก้เกมถี่ยิบ หวังพิชิตใจคนดูอีกครั้ง

ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนจาก
ทีวีแอนะล็อกสู่ทีวีดิจิตอลที่ตีคู่ไปพร้อมๆ กับสื่อออนไลน์ ต่างชิงรุก ชิงเวลา เพื่อดึงสายตาผู้ชมกันแบบเทหมดหน้าตัก ซึ่งผลของการทุ่มไม่อั้นของทีวีและกระแสโลกโซเชียลครั้งนี้ จัดเป็นบทเรียนราคาแพงที่ประเมินค่าไม่ได้สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล จากที่เคยแข็งแกร่งสู่จุดที่ต่ำสุด ใครจะคิดว่าช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ราคาโฆษณาสูงแตะระดับ 4 แสนบาทต่อนาที จะหล่นมาเหลือแค่ 20% ของราคาที่ตั้งไว้ในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปก่อนจะเกิดทีวีดิจิตอล รูปแบบผังรายการโทรทัศน์ซึ่งมีผู้เล่นหลักไม่เกิน 5-6 ราย ล้วนแต่ดำเนินตามสูตรการบริหารช่อง คือ ผังรายการจะมีช่วงเวลาไพรม์ไทม์ตั้งแต่เวลา 20.30 น.-เที่ยงคืน หรือในช่วงละครหลังข่าวพระราชสำนัก และรายการวาไรตีหลังละครสี่ทุ่ม ซึ่งที่ผ่านมาช่วงเวลา 3-4 ชม.ตรงนี้มีการแข่งขันมากที่สุด และเป็นรายการที่ทุกคนต่างจดจำได้อย่างแม่นยำ มีแฟนรายการอย่างเหนียวแน่น จนเกิดปรากฏการณ์โฆษณาล้น และมีการปรับราคาขึ้นจนแตะ 4-5 แสนบาทต่อนาที ซึ่งถือเป็นระดับราคาสูงสุดตั้งแต่เกิดอุตสาหกรรมทีวีขึ้นมา

**อวสานวาไรตีสี่ทุ่มครึ่ง**

แต่หลังจากเกิดทีวีดิจิตอล ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมทีวีตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ที่เคยแข็งแกร่งกลับไม่สามารถยืนหยัดได้อีกต่อไป โดยเฉพาะผังรายการวาไรตีหลัง 22.30 น. ปัจจุบันถือเป็นช่วงปราบเซียน ผู้จัดส่ายหน้าไม่อยากได้เวลาช่วงนี้ เจ้าของช่องเองต้องกุมขมับหาทางออก ขณะที่เอเยนซีพร้อมชี้ขาด เอ่ยปากหลังเที่ยงคืนไม่ซื้อโฆษณาอีกต่อไป

นายวราวุธ เจนธนากุล ประธานกรรมการ บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหารายการวาไรตีหลังเวลา 22.30 น. เกิดขึ้นมาหลายปีตั้งแต่ช่วงเกิดทีวีดิจิตอลใหม่ๆ แต่จะชัดเจนมากที่สุดคือช่วงนี้ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าผังรายการช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีรายการไหนเป็นที่จดจำ หลังจากรายการเดิมที่แข็งแกร่งออกจากผังไป
ปัจจุบันรายการเดิมที่แข็งแกร่งและอยู่มาอย่างยาวนานในช่วงเวลานี้ ล่าสุดรายการที่นี่หมอชิต ก็ได้ยุติการออกอากาศไป จึงเหลือเพียงรายการเดียว คือ เรื่องจริงผ่านจอ ของทางช่อง7 ขณะที่ รายการกิ๊กดู๋ มีการปรับรูปแบบรายการและนำเสนอต่อจากละครทันที นอกนั้นมีการปรับเปลี่ยนเวลาใหม่นำเสนอในช่วงกลางวันแทนหรือยุติรายการลง

“ด้วยการที่แต่ละสถานีฯ มีการปรับผังรายการในช่วงเวลาไพรม์ไทม์หลังข่าวพระราชสำนัก และการให้เวลาละครเพิ่มเป็น 2.30 ชั่วโมง ซึ่งกว่าจะจบก็เกือบ 5 ทุ่ม บางช่องที่เน้นวาไรตีก็นำเสนอวาไรตีที่ดีๆ ในเวลานี้เช่นกัน จบจากเวลานี้ผู้ชมก็อยากพักผ่อนได้เวลานอน บวกกับทั้งวันมีการนำเสนอรายการดีๆ มากอยู่แล้ว ทำให้รายการหลังเวลา 22.30 น.อยู่ยาก เรตติ้งไม่ดีอย่างแต่ก่อน เพราะผู้ชมมีทางเลือกในการรับชมหลากหลายแพลตฟอร์ม เอเยนซีเองจึงประกาศชัดว่าหลังเที่ยงคืนจะไม่ลงโฆษณาในสื่อทีวีอีกต่อไป ดังนั้นรายการที่ต่อจากละครซึ่งมีเวลาเพียง 1 ชม. ก่อนเที่ยงคืน จึงไม่คุ้มที่จะลงทุน”

นายวราวุธกล่าวด้วยว่า รูปแบบรายการวาไรตีประเภททอล์กโชว์ที่เคยแข็งแกร่งอยู่บนเวลาไพรม์ไทม์หลัง 22.30 น. เป็นอีกรายการที่ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะทอล์กโชว์เกี่ยวกับดารา เนื่องจากปัจจุบันสื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาท ผู้ชมสามารถเข้าถึงชีวิตดาราได้มากกว่าแต่ก่อน การนำเสนอวาไรตีทอล์กโชว์ประเภทนี้จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนเดิม และหายไปจากผังรายการ

**ซีรีส์เกาหลียึดเวลาแทน

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้ผังรายการหลัง 22.30 น. ไม่ค่อยนิ่ง ผู้จัดไม่อยากได้เวลานี้อีกต่อไป ทางสถานีฯ จึงต้องแก้เกมนี้เอง ต้องลงทุนเอง ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ที่ทำให้อยู่รอดหรือขาดทุนน้อยที่สุด ในสถานการณ์ที่เวลานี้ไม่ควรลงทุนหนัก รายได้จากโฆษณาน้อยลง ซึ่งแตกต่างจาก 4-5 ปีก่อนที่ผู้จัดสนใจและต้องการเวลานี้มากที่สุด โดยเฉพาะช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งถือเป็นช่องหลักที่มีความแข็งแกร่งกับรายการในช่วงเวลาดังกล่าว

ปัจจุบันเป็นช่องที่มีการปรับรายการนำเสนอในช่วงเวลานี้อยู่บ่อยครั้ง จากที่เคยเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ของรายการวาไรตี กลายมาเป็นช่วงเวลาของซีรีส์ต่างประเทศไปแล้ว โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลี ส่วนหนึ่งเพราะลงทุนต่ำกว่าการจ้างผลิตรายการ ซึ่งการนำกลยุทธ์คอนเทนต์ซีรีส์มาใช้นั้นจะกลายเป็นสูตรสำเร็จอีกครั้งหรือจะช่วยฟื้นเวลาดังกล่าวให้กลับมาเป็นที่จดจำได้หรือไม่นั้น ภายในปีนี้น่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น หากผังรายการนี้อยู่ได้นานจนถึงสิ้นปี ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ สุดท้ายช่วงเวลาหลังสี่ทุ่มครึ่งคงจะกลายเป็นช่วงสงครามข่าวรอบดึกแทน

***อัตราค่าโฆษณาต่ำลงเหลือ 20%

นอกจากกระแสความนิยมที่ลดลง ในส่วนของเรตโฆษณารายการหลัง 22.30 น. ปัจจุบันยังถือได้ว่าราคาจริงลดลงเหลือเพียง 20% จากที่ราคาที่ตั้งไว้ด้วย จากเฉลี่ยที่เคยมีราคาสูงสุดร่วม 3-3.5 แสนบาทต่อนาที เทียบจากรายการกิ๊กดู๋ สงครามเงาเสียง ที่มีเรตติ้งสูงสุดและมีเรตโฆษณาอยู่ที่ 3.4 แสนบาทต่อนาทีในเวลานี้ ทำให้หลายรายการต้องยุติลงหรือหาเวลาลงใหม่ เพราะขนาดละครหลังข่าวพระราชสำนัก ที่ถือเป็นคอนเทนต์เรตโฆษณาสูงสุดยังมีรายได้โฆษณาลดลง

อย่างทางช่อง 3 ปัจจุบันรายการละครหลังข่าวจันทร์-อาทิตย์ เวลา 20.20-22.50 น. เฉลี่ยมีเรตโฆษณาอยู่ที่ 455,000 บาทต่อนาที ยังต้องปรับกลยุทธ์การขายใหม่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปยังรายการวาไรตีที่เคยแข็งแกร่งบนเวลาหลังสี่ทุ่มครึ่ง กับช่วงเวลาใหม่ในปัจจุบัน เช่น รายการ 3 แซ่บ ทางช่อง 3HD ในวันอาทิตย์ เวลา 13.15-14.15 น. เฉลี่ยเรตโฆษณาอยู่ที่ 395,000 บาทต่อนาที ซึ่งเป็นเรตราคาที่ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ แต่หากยังอยู่เวลาเดิม ปัจจุบันอาจจะเป็นอีกรายการที่ต้องยุติลง


กำลังโหลดความคิดเห็น