xs
xsm
sm
md
lg

แหงน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


โถงทางเดินบันไดขึ้นลงระหว่างชั้นดังลั่นเซ็งแซ่ด้วยเสียงพูดคุยหลากเรื่องราว บ้างเอ่ยถึงสภาพภูมิอากาศอุณหภูมิ บ้างบ่นอุบอิบเรื่องอ่านหนังสือไม่ทันเวลาสอบ บ้างวิพากษ์ชีวิตวิถีดาราทั้งนอกในต่างประเทศ บ้างวิจารณ์ละครออนแอร์ฮอตฮิตหลังข่าวภาคค่ำ และอีกสัพเพเหระล้นเหลือจะเอ่ย ความเพลิดเพลินระหว่างการก้าวขาขึ้นบันไดและสดับรับฟังเรื่องราวผ่านหูชะงักสะดุดเมื่อผมได้ยินเสียงคำถามจากขั้นบันไดด้านบน “เฮ้ย นั่นมันอะไรน่ะ? ข้างบนตรงนั้น” เสียงพูดคุยเริ่มซาเบาลงพร้อมการเพิ่มจำนวนใบหน้าที่แหงนมองตามทางทิศนิ้วพุ่งชี้ไปยังผนังเพดานปูนด้านบน

วัตถุม้วนกลมสีเข้มซุกกระจุกรวมตัวอยู่มุมด้านหนึ่งของเพดาน จากอาการขยับเคลื่อนไหวเล็กน้อยที่เห็นได้ถ้าลองใส่ใจสังเกตให้ดีทำให้ทราบว่าเป็นสิ่งมีชีวิตบางอย่างแน่นอนอย่างไม่มีข้อกังขา “อะไรวะ?” “ตัวอะไรน่ะ?” คำถามดังขึ้นเรื่อยจากปากสู่ปากจนกระทั่งคำตอบจากใครคนหนึ่งเหมือนจะไขความข้องใจของทุกคนให้หายสงสัย “ไม่รู้ว่ะ” ส่งให้สถานการณ์ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะวุ่นวายโหวกเหวกตามปกติก่อน “อย่างนี้ก็ได้เหรอ?” ผมลากเสียงยาวเหยียดในความคิด

ค้างคาวปีกถุงเคราดำ (Taphozous melanopogon) เป็นค้างคาวกินแมลงขนาดปานกลาง ออกหากินเป็นฝูงเวลากลางคืน มีรายงานการกระจายกว้างสามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ประเทศไทย ตามสภาพธรรมชาติพบเกาะพักนอนอยู่ตามถ้ำ ช่องผา โพรงไม้ในป่า แต่เนื่องจากเป็นค้างคาวที่สามารถปรับการดำเนินชีวิตให้เข้ากับกิจกรรมและสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ได้เป็นอย่างดีจึงทำให้สามารถพบตามซอกหลืบมุมหลบของอาคารสำนักงานบ้านเรือนบ่อยครั้งและประชากรในแต่ละจุดเกาะนอนก็มีจำนวนไม่ใช่น้อย สถานภาพการอนุรักษ์ที่ถูกกำหนดโดย IUCN จึงจัดลำดับไว้ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (Least Concern, LC) แต่ก็ยังคงมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทยตามประกาศแนบท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

“น้อยไปหรือเปล่า? ไม่กี่ตัวเอง” ผมสงสัย “ตามปกติเจอแต่ละทีเกาะเรียงกันเป็นแผง” บางพื้นที่มีรายงานเกาะพักนอนรวมกันเกินกว่าร้อยตัวหรือบางแห่งอาจพบเกาะนอนรวมกันมากถึงพันตัว

ค้างคาวตัวหนึ่งคงไม่อาจทนความหัวข้อสนทนาไร้สาระของละครหลังข่าว มันทิ้งตัวออกจากจุดเกาะนอน บินลงไปตามทางบันได้เข้าโถงทางเดินก่อนพลิกตัวร่อนหลบเข้าไปใต้หลังคาริมตัวอาคาร ผมเดินตามมันไป เสียงตะลึงอุทานผมคงดังไปถึงหูเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอาคารซึ่งอยู่อีกฝากตึกจนต้องเดินมาดู

“ค้างคาวเยอะแยะครับ แต่ถ้าเป็นช่วงปิดเทอมจะมากกว่านี้อีกครับ ต้องเช็ดทำความสะอาดกันทุกเช้า ขี้เยี่ยวเรี่ยราดเปรอะไปหมด” เจ้าหน้าที่เสริมข้อมูลระหว่างแหงนมองค้างค้าวเหล่านั้น

สิ่งที่วิ่งเข้ามาในหัว “ทั้งหมดนี่กี่ตัวกันเนี่ย?” “ค้างคาวพวกนี้มีเชื้อ Rabies หรือเปล่า?” “โรคพิษสุนัขบ้าจะระบาดไหม?” “เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดยังไง?” “มีเครื่องมือป้องกันอะไรไหม?” “ถ้ามีเชื้อจริง ๆ แล้วมีใครติดเชื้อไปบ้างหรือยัง?” คำถามจากความสงสัยไหลพรูเวียนวนอยู่ในสมองอย่างอัตโนมัติและความใคร่รู้คำตอบของคำถามก็เพิ่มพูนมากเรื่อย

แต่มีสิ่งสะกิดความคิดย้อนเมื่อนึกถึงคำถามแรกสุดที่ได้ยินเมื่อซักครู่ผ่าน “นี่มันตัวอะไร?” ซึ่งคำตอบที่ก่อเกิดความพึงพอใจก่อนดำเนินชีวิตต่อกันไปคือ “ไม่รู้ว่ะ” พอนึกได้อย่างนั้นผมเองก็ไม่รู้จะไปต่ออย่างไรและไปเพื่อใครเหมือนกัน

ความรู้สึกมัน “เหนื่อย ๆ” ...

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น