“สนธิรัตน์” มอบคณะอนุกรรมการพิจารณาการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อข้าวโพด เหลือ 1 ต่อ 2 ตามที่กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เสนอวันที่ 18 เม.ย.นี้ ย้ำให้ยึดหลักการสร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิต เกษตรกร ต้องได้รับประโยชน์ทุกฝ่าย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกลุ่มปศุสัตว์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 ว่าสมาคมฯ ที่เข้าร่วมประชุมได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาทบทวนมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศที่อัตรา 1 ต่อ 3 หรือนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน โดยขอให้ผ่อนปรนมาตรการกำหนดสัดส่วนเหลือ 1 ต่อ 2 หรือนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 2 ส่วน ซึ่งได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน นำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา โดยจะมีการประชุมกันในวันที่ 18 เม.ย. 2561 และได้เปิดโอกาสให้สมาคมฯ ข้างต้นส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมได้ด้วย
“มติที่ประชุมจะออกมาอย่างไร ต้องรอผลการพิจารณาก่อน แต่ผมได้ให้หลักการไปว่าการพิจารณาต้องสร้างประโยชน์และสร้างจุดสมดุลให้แก่ทุกฝ่าย ทั้งเรื่องราคาที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และมติที่ออกมาจะต้องสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนาคตด้วย” นายสนธิรัตน์กล่าว
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนมาตรการกำหนดสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศเหลือ 1 ต่อ 2 โดยปัจจุบันการกำหนดสัดส่วน 1 ต่อ 3 แม้จะซื้อข้าวโพดตามสัดส่วนการนำเข้า ข้าวโพดก็ยังขาดแคลนอยู่ 1.7 ล้านตัน ถ้าลดลงมาเหลือ 1 ต่อ 2 ก็ยังขาดแคลนอีก 8 แสนตัน เพราะฉะนั้น แม้จะลดสัดส่วน ก็ไม่ต้องกังวลว่าผู้ผลิตจะลดการซื้อข้าวโพดในประเทศลง
“กลุ่มผู้ใช้ไม่ต้องการเสนอให้ยกเลิกมาตรการกำหนดสัดส่วนทั้งหมด เพราะไม่แฟร์กับกระทรวงพาณิชย์และผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ แต่อยากให้ทบทวนมาตรการกำหนดสัดส่วนเหลือแค่ 1 ต่อ 2 ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ใช้ได้ อีกทั้งขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ กก.ละ 11 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ กก.ละ 8-9 บาท เพราะปัญหาการขาดแคลน จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยพิจารณา เพราะแม้ลดสัดส่วนลงก็ไม่กระทบราคาในประเทศ โดยในวันที่ 18 เม.ย.จะเข้าร่วมเพื่อยื่นข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง” นายพรศิลป์กล่าว