xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.จับมือยูบีเอ็มผุดงานอินเตอร์แมค 2018 ดัน SMEs สู่ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือยูบีเอ็มจัดงานยิ่งใหญ่ “อินเตอร์แมค 2018” ระหว่าง 16-19 พ.ค. ที่ไบเทค ส่งเอสเอ็มอี 4.0 เข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมนำสมัย ดันไทยเป็นฮับฐานการผลิตอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก

นายอดิทัต วะสีนนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กรมฯ ให้การสนับสนุน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดกิจกรรมภายในงานอินเตอร์แมค 2018 เพื่อประกาศความพร้อมของไทยในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยสู่ตลาดโลกจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ตามแผนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเดินหน้าประเทศไทย 4.0 โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็ได้มีนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยก้าวสู่ยุค 4.0 หรือ DIP : Transform For SMEs 4.0 ตั้งเป้าช่วย SMEs ให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน

“การเข้าร่วมงานอินเตอร์แมค 2018 กรมฯ มุ่งเน้นที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมเอสเอ็มอี เข้าถึงการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อไปปรับใช้ต่อยอดให้เป็นเอสเอ็มอี 4.0 ให้เกิดการยกระดับการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสู่ตลาดสากล และเดินหน้าสู่การเป็น Smart Factory อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอดิทัตกล่าว

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า INTERMACH 2018 งานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค จัดร่วมกับงาน SUBCON Thailand 2018 งานแสดงอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตเพื่อการจัดชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่ธุรกิจ และงาน MTA 2018 งานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรและนวัตกรรมการผลิตด้านวิศวกรรมล่าสุด ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวัน ที่ 16-19 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

“คอนเซ็ปต์งาน “พลิกโฉมสายการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ” ครบวงจรด้วย 1,200 แบรนด์เทคโนโลยีชั้นนำปฏิวัติสู่ยุคเครื่องจักรอัจฉริยะ โดยจะมี 45 ประเทศเข้าร่วมงานพร้อมพาวิเลียนชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และจีน นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาให้ความรู้กว่า 50 สัมมนา”

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า จากการที่ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีเข้ามาช่วยประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมไทยพบว่า โดยรวมแล้วผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยยังคงอยู่ในช่วงของการเป็นอุตสาหกรรมยุค 2.0 กว่าเท่านั้น มีบ้างที่เป็นอุตสาหกรรมยุค 3.0 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมอาหารยังคงอยู่ในช่วงของอุตสาหกรรมยุค 2.0

“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสามารถทยอยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ โดยเริ่มจากการให้ที่ปรึกษาหรือ SI จากสถาบันไทย-เยอรมัน ช่วยวิเคราะห์ได้ เมื่อได้รับคำแนะนำก็สามารถทยอยปรับระบบการผลิตต่อไปตามลำดับ จากอุตสาหกรรมยุค 2.0 สู่อุตสาหกรรมยุค 3.0 และก้าวสู่ 4.0” นายสมหวังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น