xs
xsm
sm
md
lg

“เวฟ” ดัน “เจฟเฟอร์-วอลล์สตรีท” ลุย ตปท. “เดอะมอลล์” ซื้อหุ้นรุก “ฟูด-ไลฟ์สไตล์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - “เวฟฯ” เปิดแผนธุรกิจปี 61 หลัง “เดอะมอลล์” เข้าถือหุ้นเวฟ สำเร็จ 10% เผยตระกูลมาลีนนท์เปิดทางให้โดยยอมเพิ่มทุนและลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 37% จากเดิมถือหุ้น 42% ชี้เดอะมอลล์ต้องการแตกไลน์และต่อยอดธุรกิจฟูดกับไลฟ์สไตล์

นายแมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WAVE) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงมีแผนที่จะเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการต่างๆ ที่มีความน่าสนใจและมีความเกี่ยวเนื่อง เพื่อเป็นการขยายศักยภาพของบริษัทฯ ให้เติบโตต่อเนื่อง และเพื่อนำธุรกิจต่างๆ นั้นมาต่อยอดในรูปแบบของการแปลงเป็นคอนเทนต์เพื่อนำไปผลิตเป็นรายการในรูปแบบต่างๆ เพื่อป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ได้ด้วย รวมทั้งการทำอีเวนต์ต่างๆ ทั้งธุรกิจอาหาร ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจไลฟ์สไตล์

รวมทั้งแผนการขยายธุรกิจด้วยการใช้ระบบแฟรนไชส์ และขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วย เพื่อให้ธุรกิจสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับการขยายตัวของตลาดที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจของวอลล์สตรีท และธุรกิจเจฟเฟอร์สเต๊ก ที่จะเริ่มขายแฟรนไชส์แล้ว

“บริษัทฯ มองเห็นสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจภาพรวมปีนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว ช่วงธันวาคมปีที่แล้ว โดยรวมเราก็เติบโต 2% ตอนนี้ภาครัฐบาลเองก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจรวม มีการลงทุนสาธารณูปโภคต่างๆ กำลังซื้อของผู้บริโภคเองก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบดีขึ้น” นายแมทธิวกล่าว

ทั้งนี้ ปี 2561 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมของเวฟฯ ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วที่มีรายได้รวมประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยปัจจุบันเวฟฯ ได้เข้าไปถือหุ้นและเป็นเจ้าของกิจการแล้วจำนวน 3 แห่ง คือ เจฟเฟอร์ สเต๊ก รายได้ปีที่แล้วประมาณ 700 ล้านบาท สัดส่วนรายได้ 25%, สถาบันสอนภาษาอังกฤษวอลล์สตรีท มีรายได้ปีที่แล้วประมาณ 700 ล้านบาท สัดส่วนประมาณ 25% ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงมากเมื่อปีที่แล้ว และ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้น 50% ปีที่แล้วมีรายได้ประมาณ 1,300 ล้านบาท หรือสัดส่วน 50%

นายแมทธิวกล่าวด้วยว่า ล่าสุดที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีมติอนุมัติให้บริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เข้ามาซื้อหุ้น 10% ในส่วนที่เพิ่มทุน หรือคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 180 ล้านบาท มูลค่าหุ้นละ 3.85 บาทต่อหุ้น รวม 46,750,000 หุ้น ส่งผลให้บริษัทเวฟมีผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงเป็นตระกูลมาลีนนท์ลดลงเหลือ 37% จากเดิม 42% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 53% จากเดิม 58%

นายแมทธิวกล่าวว่า การได้เดอะมอลล์เป็นผู้ถือหุ้น ทำให้การขยายธุรกิจของเวฟทำได้เร็วและง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการหาทำเลเปิดธุรกิจทั้ง เจฟเฟอร์สเต๊ก ทั้งวอลล์สตรีท หรือแม้แต่อินเด็กซ์อีเวนต์ที่จะมีโอกาสในการรับงานอีเวนต์ต่างๆ ให้กับกลุ่มเดอะมอลล์ด้วย ซึ่งแต่ละปีเดอะมอลล์มีอีเวนต์และใช้งบตลาดค่อนข้างมาก เดอะมอลล์มีศูนย์การค้าหลายแห่ง และมีที่พัฒนาอีกมาก ทั้ง ดิเอ็มสเฟียร์ แบงค็อกมอลล์บางนา บลูเพิร์ล เป็นต้น เป็นค้าปลีกใหญ่ที่สองของไทย อีกทั้งยังทำให้โนว์ฮาวและการผนึกกำลังในการซื้อวัตถุดิบอาหาร และระบบการจัดการด้วย

“เงินใหม่ที่ได้มาจากเดอะมอลล์ซื้อหุ้นส่วนหนึ่งใช้เป็นทุนหมุนเวียนกิจการ และอีกส่วนนำไปชำระหนี้ส่วนหนึ่งที่มีประมาณ 900 กว่าล้านบาท”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่เดอะมอลล์เข้ามาถือหุ้นในเวฟฯ น่าจะเป็นการทดลองและการต่อยอดที่จะขยายเข้าสู่ธุรกิจอาหารเต็มรูปแบบในแง่ที่เป็นเชนอาหาร และธุรกิจไลฟ์สไตล์อื่นๆ ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่ากลุ่มเซ็นทรัลมีทั้งอาหารในนามซีอาร์จีหลายแบรนด์ ทั้งเคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท โอโตยะ โยชิโนยะ เทนยะ อานตี้แอนส์ เป็นต้น หรือซีเอ็มจีที่นำเข้าและจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์จำนวนหลายแบรนด์ เช่น เสื้อผ้า นาฬิกา รองเท้า เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสยามพิวรรธน์เจ้าของสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ก็แตกไลน์สู่อาหารมาระยะหนึ่งแล้ว เช่นการนำลิขสิทธิ์ร้านเจมี่อิตาเลียนเข้ามาเปิดในไทย และร้านอื่นอีก เป็นต้น

แต่เมื่อมองมาทางฟากเดอะมอลล์ก็ยังไม่มีธุรกิจฟูดเชนที่ชัดเจนเลย มีเพียงธุรกิจอาหารที่เป็นซูเปอร์มาร์เกตในนาม กูร์เมต์มาร์เก็ต ซึ่งทำรายได้ในกลุ่มอาหารประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท จากรายได้รวมทั้งกลุ่มประมาณ 50,000 กว่าล้านบาท ดังนั้น การที่เดอะมอลล์เข้าถือหุ้นในเวฟฯ ครั้งนี้จึงน่าจะเป็นการขยับก้าวแรกที่น่าสนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น