xs
xsm
sm
md
lg

“ซีอาร์จี” ทุ่มหมื่นล้านแผน 5 ปีรุกตลาดโลก ดึงร้าน SME เข้าพอร์ต-จ่อเซกเมนต์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี /CRG
ผู้จัดการรายวัน 360 - “ซีอาร์จี” เปิดเกมรุกฟูด แผน 5 ปีทุ่ม 10,000 ล้านบาทขยายเครือข่ายทั้งแบรนด์ใหม่-แบรนด์เก่า-เทกโอเวอร์ ลุยตลาดเอเชียปักธงเวียดนาม ก้าวสู่ตลาดโลกโฟกัสยุโรป ชูกลยุทธ์ดึงเอสเอ็มพีเข้าพอร์ต เอาเงินทุนโนว์ฮาวมาดูด



นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี /CRG ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนยาว 5 ปีจากนี้ (2561-2565) จะลงทุนรวม 10,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจร้านอาหารต่อเนื่อง เป้าหมายทั้งในตลาดประเทศไทย ตลาดเอเชีย และตลาดโลก ทั้งการพัฒนาแบรนด์ใหม่ การซื้อไลเซนส์ร้านอาหาร และการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ

คาดว่าอีก 5 ปีจะมีรายได้รวมประมาณ 22,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีรายได้รวม 11,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ส่วนปีนี้ (2561) ตั้งเป้าหมายรายได้รวม 12,200 ล้านบาทโต 11% อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปต้องมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปีตลอด 5 ปีจากนี้ และจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 10% ซึ่งปัจจุบันซีอาร์จีมีส่วนแบ่งตลาดร้านอาหารที่เป็นเชนประมาณ 8% เป็นอันดับที่ 3 ในแง่รายได้รวมจากตลาดรวมฟูดเชน 140,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดรวมร้านอาหารในไทยมี 400,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณการลงทุน แยกเป็น งบลงทุนสาขา 500 ล้านบาท งบการตลาด 500 ล้านบาท งบวางระบบไอที 200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นอื่นๆ และการร่วมทุนรวมทั้งการซื้อกิจการ โดยปี 2561 นี้คาดว่าจะเปิดสาขาใหม่ เช่น เคเอฟซีประมาณ 20 กว่าสาขา จากขณะนี้มี 234 สาขา มิสเตอร์โดนัทเปิดใหม่ 30 กว่าสาขาจากขณะนี้ที่มี 344 สาขา อานตี้แอนส์ เปิดอีก 15 สาขาจากขณะนี้มี 150 สาขา เปปเปอร์ลั้นช์ เป็นต้น

ปัจจุบันซีอาร์จีมีร้านอาหารรวม 11 แบรนด์ ประกอบด้วย เคเอฟซี รายได้หลักกว่า 50%, มิสเตอร์โดนัท 18%, อาหารญี่ปุ่น เช่น โอโตยะ เปปเปอร์ลั้นช์ ชาบูตง โยชิโนยะ เทนยะ คัตสึยะ รวมกว่า 20% และยังมีอีกเช่น อานตี้แอนส์ โคลด์สโตนครีมเมอรี่ เดอะเทอเรส โดยมีเครือข่ายร้านค้ารวมกว่า 902 สาขา สิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และตั้งเป้าหมายที่จะเปิดสาขาใหม่รวม 100 สาขา คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสาขารวมทุกแบรนด์ 1,000 สาขา

แผนในประเทศไทย กลยุทธ์หนึ่งของเราก็คือ การเข้าไปสนับสนุนร้านอาหารของระดับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง แต่อาจจะมีเงินทุนไม่มากเพียงพอ ซึ่งเรามีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน ทำเล ศักยภาพทีมงาน โนว์ฮาวต่างๆ เมื่อนำเอามาผนึกกำลังกันก็จะส่งผลต่อแบรดน์ด้วย ซึ่งอาจจะออกมาในหลายรูปแบบเช่น การที่เราเข้าไปถือหุ้นมากน้อยแล้วแต่การเจรจา ซึ่งจะทำให้แบรนด์นั้นมีความแข็งแกร่งและมีการเติบโตที่ดีและเร็วขึ้น ขณะนี้เจรจาอยู่ประมาณ 6-7 แบรนด์แล้ว ส่วนใหญ่มีร้านอยู่ในศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล คาดว่าจะสรุปเจรจาได้ 2-3 แบรนด์ต่อปี
ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี /CRG
นายณัฐกล่าวต่อว่า ในไทยจะมีรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ฟูดเฮฟเวน คือการรวมเอาหลายแบรนด์ของซีอาร์จีมาเปิดในสถานที่เดียวกันเพื่อการขยายฐานและเชื่อมต่อลูกค้าได้อย่างดี ซึ่งลูกค้าสามารถจะสั่งอาหารแบรนด์ใดมารับประทานก็ได้เพราะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เริ่มทดลองแล้วที่เทสโก้โลตัสบางใหญ่ พื้นที่ 300 ตารางเมตร มีหลายแบรนด์ที่เปิด เช่น โยชิโนยะ คัตสึยะ เปปเปอร์ลั้นช์ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีความสนใจในธุรกิจร้านอาหารใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและเป็นตลาดที่ใหญ่ เช่น ตลาดร้านกาแฟ-เบเกอรี มูลค่าตลาดกว่า 20,000 ล้านบาท หรือธุรกิจร้านอาหารแบบหม้อไฟฮอตพอต มูลค่ากว่า 19,000 ล้านบาท ประเภทส้มตำมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท อาหารตะวันตก มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนแผนตลาดเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความสนใจที่ตลาดเวียดนามเป็นอันดับแรก เนื่องจากเครือเซ็นทรัลก็มีฐานธุรกิจที่เวียดนามอยู่แล้ว เป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีประชากร 90-100 ล้านคน มีฟูดเชนเพียง 2,200 สาขา ขณะที่ไทยมีประชากรน้อยกว่าหรือมีประมาณ 68 ล้านคน แต่มีฟูดเชนมากถึง 23,000 สาขา ซึ่งเห็นได้ว่าเวียดนามมีอนาคตและมีตลาดที่เติบโตได้อีกมาก เมื่อเทียบกับประเทศไทยและประเทศอื่นในกลุ่มซีแอลเอ็มวีด้วยกัน โดยจะมีทั้งการนำแบรนด์ที่มีอยู่ไปเปิดและการพัฒนาแบรนด์ร่วมกับทางบริษัทท้องถิ่นเวียดนาม

ขณะที่แผนสู่ตลาดโลกนั้นมองที่ยุโรปเป็นหลักก่อน ส่วนอเมริกาเป็นตลาดรองลงมา ซึ่งคาดว่าจะนำอาหารไทยไปเปิดตลาด ส่วนจะเป็นแนวทางใดอาจจะเป็นไปได้ทั้งหมด ทั้งการนำแบรนด์เทอเรสไปเปิดตลาด หรือการพัฒนาแบรนด์ใหม่

“ปีที่แล้ว (2560) ธุรกิจโดยรวมของเราได้ผ่านเทิร์นอะราวนด์ไปหลายแบรนด์แล้วไม่ต่ำกว่า 6-7 แบรนด์ หลังจากที่เราได้มีการปรับกลยุทธ์ตลาดเต็มที่ บางแบรนด์ที่ดีอยู่แล้วก็เติบโตดีขึ้น บางแบรนด์ไม่ได้ทำอะไรมากนักก็เลยโตช้า หลายแบรนด์ก็แข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่นปีที่แล้วมิสเตอร์โดนัทโต 17% ชาบูตงโต 332% โอโตยะโต 267% เทนยะโต 368% คัตสึยะโต 259% โยชิโนยะโต 129% เป็นต้น

สำหรับธุรกิจดีลิเวอรี บริษัทฯ ได้ทำการปรับระบบใหม่เพื่อรองรับตลาดรวมดีลิเวอรีที่เติบโตมากกว่า 12-15% คาดว่าในไตรมาสสองปีนี้จะเห็นเป็นรูปธรรมได้ โดยบริษัทฯ จะรวบรวมทุกแบรนด์เข้ามาอยู่ดีลิเวอรีเดียวกัน สามารถสั่งทุกแบรนด์ได้ ที่ผ่านมาร่วมมือกับทางฟู้ดแพนด้า ไลน์แมน อูเบอร์ฟู้ด แกร็บฟู้ด เป็นต้น รวมทั้งจะขยายพันธมิตรเพิ่มด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น