xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ดันผู้ประกอบการลอจิสติกส์รวมตัวให้บริการขนส่งแก่ SMEs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ผลักดันผู้ประกอบการลอจิสติกส์ สมาคมและสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้อง รวมตัวกันให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์ให้กับ SMEs ที่ทำการค้าออนไลน์ มั่นใจสู้บริษัทต่างชาติได้แน่ เหตุมีความเชี่ยวชาญเฉพาะจังหวัดและภูมิภาค มีเครือข่ายมากกว่า ส่งสินค้าได้หลากหลาย เตรียมช่วยวางระบบ ทำโครงสร้างราคา ทำแพลตฟอร์มกลาง และดึง Start up มาช่วยทำซอฟต์แวร์

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจลอจิสติกส์ไทย และสมาคม สมาพันธ์ที่เกี่ยวข้อง มาหารือร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันเพื่อให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ทำการค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจลอจิสติกส์รองรับยุคดิจิตอล แต่ยังช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้วย

“ปัจจุบันนี้ ผู้ให้บริการขนส่งรองรับการค้าออนไลน์อย่างครบวงจรในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่ราย และส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งจากการหารือมีความเห็นตรงกันว่าบริษัทขนส่งไทยมีศักยภาพที่จะให้บริการในต้นทุนที่ถูกกว่าและมีจุดแข็งเมื่อเทียบกับบริษัทต่างชาติ เช่น มีความเชี่ยวชาญเฉพาะจังหวัดหรือเฉพาะภูมิภาค มีเครือข่ายที่มากกว่า สามารถส่งสินค้าได้หลากหลาย รวมทั้งสินค้าเกษตรหรือสินค้าอื่นที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์พิเศษ แต่มีจุดอ่อน คือ การขาดระบบและซอฟต์แวร์ที่จะบริหารจัดการระบบการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขาดการร่วมกันเป็นเครือข่าย แต่หากรวมตัวกันและร่วมกันพัฒนา ก็จะสู้และแข่งขันได้” นางนันทวัลย์กล่าว

นางนันทวัลย์กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้เสนอให้ภาคเอกชนจัดการหารือเพื่อเสนอแนวทางความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการให้บริการด้านลอจิสติกส์เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าอีคอมเมิร์ซทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยอาจพิจารณาเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ start up ไทยที่ให้บริการ software ด้านลอจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลให้การค้าและการขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางแผนเส้นทางให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยลดต้นทุนได้ และได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมหารือและติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

สำหรับแนวทางในการดำเนินการ จะมีการบูรณาการด้านข้อมูลระหว่างผู้ใช้ (Users) กับผู้ให้บริการ เพื่อสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ, การจัดทำโครงสร้างราคาและต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ, การจัดทำ Platform กลางที่เป็นมาตรฐาน เพื่อเชื่อมโยงองค์ประกอบสำคัญในการทำการค้าออนไลน์ทั้ง 3 ด้าน คือ e-Marketplace e-Payment และ e-Logistics โดยสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยยินดีรับหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในส่วน e-Logistics และขอให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้เสนอให้มีการรวมตัวของผู้ประกอบการลอจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงสินค้า OTOP และสินค้าเกษตรเข้าสู่ร้านธงฟ้าประชารัฐระดับพื้นที่ให้เป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว โดยอาจพิจารณาค่าขนส่งอัตราพิเศษเข้าสู่ร้านประชารัฐที่ขณะนี้มีจำนวน 20,000 แห่งทั่วประเทศด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น