xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เปิดตัวดัชนีการค้าบริการครั้งแรก จับตาอสังหาฯ โตแรงหวั่นเกิดฟองสบู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” รับนโยบาย “สมคิด” เปิดตัวดัชนีการค้าภาคบริการของไทยเป็นครั้งแรก วัดผลการเติบโต 13 สาขาธุรกิจ ประเดิมทำดัชนีเดือน ธ.ค. 60 เพิ่ม 5.8% เผยอสังหาริมทรัพย์ ที่พักแรม การขายส่งปลีก มาแรง แต่น่าห่วงอสังหาริมทรัพย์โตจากแบงก์ให้กู้ ไม่ใช่จากตัวธุรกิจ ต้องกำหนดนโยบายป้องกันเกิดฟองสบู่ ระบุปี 61 อสังหาริมทรัพย์ การเงิน สุขภาพ และขายส่งขายปลีก จะยังคงเติบโตได้ดี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำดัชนีภาวะการค้าภาคบริการ (TSPPI) ขึ้นเป็นครั้งแรกตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้จัดทำ เพื่อใช้ในการชี้วัดอัตราการเติบโตของธุรกิจภาคบริการของประเทศ เพราะปัจจุบันธุรกิจภาคบริการมีความสำคัญต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) มากถึง 60% หรือมีมูลค่าคิดเป็น 8 ล้านล้านบาท จากสัดส่วนจีดีพีรวมทั้งประเทศ 14 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การจัดทำดัชนีได้ติดตามการเติบโตของภาคบริการ 13 สาขาหลัก ได้แก่ การก่อสร้าง, การขายส่งและการขายปลีก, การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์, การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า, ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร, ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร, กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย, กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์, กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ, กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน, การศึกษา, กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์, ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ

ส่วนตัวชี้วัด ได้ใช้ 12 ตัวชี้วัดมาวัดผลการดำเนินงานภาคบริการและวัดศักยภาพและความเชื่อมั่นภาคบริการ ได้แก่ ยอดขาย แรงงาน จำนวนบริษัท ทุนจดทะเบียน ความเชื่อมั่นของ SMEs ภาคบริการ มูลค่าการส่งออกบริการ การลงทุนจากต่างประเทศ การจดเพิ่มทุน ทุนจดทะเบียนเพิ่มทุน เงินให้กู้ยืมของแบงก์ ดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ภาคบริการ 3 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้นของภาคบริการ

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า จากหลักเกณฑ์ข้างต้น สนค.ได้จัดทำดัชนีภาคบริการขึ้นเป็นเดือนแรก คือ เดือน ธ.ค. 2560 โดยใช้ปี 2559 เป็นปีฐาน พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 106.6 เพิ่มขึ้น 5.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน โดยภาคบริการเด่นมาจากสาขาอสังหาริมทรัพย์ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีก และกิจกรรมทางการเงิน ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าดัชนีรวม โดยเพิ่มขึ้น 24.1% , 10.3% , 9.3% และ 13.7% ตามลำดับ ส่วนสาขาบริการอื่น ได้แก่ ข้อมูลข่าวสาร เพิ่ม 4.3% ศิลปะ เพิ่ม 2.2% การขนส่ง เพิ่ม 1.5% กิจกรรมด้านสุขภาพ เพิ่ม 0.1% ขณะที่สาขาที่ลดลง ได้แก่ การก่อสร้าง ลด 1.8% กิจกรรมการบริหาร ลด 8.5% การศึกษา ลด 3.4% และกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ ลด 4.3%

อย่างไรก็ตาม สาขาอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตได้ดี พบว่าไม่ใช่การเติบโตจากการขยายตัวของธุรกิจ แต่มาจากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินให้กับภาคธุรกิจ ทำให้มีการเร่งลงทุน และมีซัปพลายเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ จะต้องพิจารณากำหนดนโยบายที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาความร้อนแรงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

สำหรับแนวโน้มภาวะการค้าภาคบริการในปี 2561 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ บริการทางการเงิน สุขภาพ และการขายส่งขายปลีก โดยอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ สาขาสุขภาพ เติบโตตามกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ส่วนสาขาก่อสร้างที่เคยมีปัญหาชะลอตัว จะดีขึ้นตามการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่จะมีการลงทุนใหม่ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น