ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธปท.อีสานระบุเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 60 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นักลงทุนไทย-ต่างชาติสนใจลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่ราคาสินค้าการเกษตรปรับตัวสูง รายได้การท่องเที่ยวขยายตัวดี การค้าชายแดนขยายตัวดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.45 จับตาเศรษฐกิจไตรมาสสอง หลังภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน
วันนี้ (3 พ.ค. 60) ที่ห้องประชุม ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.) อำเภอเมืองขอนแก่น จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจภาคอีสานในไตรมาสแรกของปีและแนวโน้มภาพรวมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 โดยมีนายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานต่างๆ ร่วมแถลงข่าว
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจอีสานไตรมาสแรกของปีขยายตัวขึ้นต่อเนื่องตามกำลังซื้อ และการอุปโภคและบริโภคโดยรวม ปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคการเกษตรขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะราคาปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันรายได้จากภาคบริการด้านการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น สอดรับกับการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ให้ความสนใจลงทุนภาคอีสานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายในการลงทุนภาครัฐเป็นแรงสนับสนุนหลักของการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของภาคอีสาน
อัตราการเข้าพักโรงแรมไตรมาสแรกของปีพุ่งสูงถึง 61.8% สร้างรายได้ให้ภาคงานบริการด้านการท่องเที่ยวมาก ขณะที่ภาคเกษตร ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลังมีราคาที่สูงขึ้น ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน ทำให้อัตราเงินเฟ้อของภาคอีสานไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 1.45 ด้านอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อที่ขยายตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐยังสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในภูมิภาค ทั้งโครงการรถไฟรางคู่ การขยายการก่อสร้างสนามบินในหัวเมืองหลัก ส่วนการค้าชายแดนมีการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าใน สปป.ลาวที่มีกำลังซื้อน้ำมันจากไทย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการส่งออกผลไม้และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการส่งออกสินค้าผ่านภาคอีสานไปยังประเทศจีนตอนใต้และเวียดนามมีแนวโน้มกำลังซื้อดีขึ้นมาก
นายสมชายกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสที่สองของภาคอีสานว่า น่าจับตาในหลายประเด็นหลังพบสัญญาณที่ดี ทั้งจากรัฐบาลที่เร่งรัดการเบิกจ่ายงบการลงทุนที่เริ่มทยอยเบิกจ่ายแล้วตั้งแต่ไตรมาสนี้ โดยเฉพาะมาตรการโครงการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มจังหวัด ทั้งมีปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่มนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนในโครงการการก่อสร้างขั้นพื้นฐาน อีกทั้งมีปัจจัยบวกมูลค่าการค้าชายแดนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอตัวลง และการเบิกจ่ายตามมาตรการของรัฐในโครงการต่างๆ ที่อาจจะล่าช้า ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความผันผวนได้เช่นเดียวกัน