วงสัมมนา “พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สู่ยุคดิจิตอล” เตรียมตั้งไซเบอร์เยนซี ป้องกันการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต รองรับเศรษฐกิจดิจิตอล นำร่อง 6 กลุ่มสำคัญ
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในงานสัมมนา “พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สู่ยุคดิจิตอล” โดยระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกถูกคุกคามทางอินเทอร์เน็ตจากกลุ่มมิจฉาชีพ จึงเตรียมตั้งไซเบอร์เยนซี พัฒนาแฮกเกอร์คนดีมาป้องกันระบบ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างมากเพราะไอทีเชื่อมโยงไปทุกส่วน ทั้งสถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ พลังงาน สาธารณสุข จึงหวังนำร่องระบบป้องกันภัยไซเบอร์ 6 กลุ่มสำคัญ และต้องพัฒนาบุคลากรด้านซีเคียวริตี้ไซเบอร์ เพื่อรองรับสังคมเศรษฐกิจยุคดิจิตอล เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญปี 2561 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตอล เพื่อเป็นสะพานดิจิตอลบริดในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
นายพิเชฐกล่าวว่า ขณะนี้ระบบการสร้าง Connectivity คืบหน้ามาก รัฐบาลจึงต้องการวางระบบอินเทอร์เน็ตฟรีไวไฟความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ ขนาด 30 เมกะบิตเป็นอย่างต่ำ จึงหารือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และภาคเอกชนให้บริการ 349 บาทต่อเดือน เพื่อกระจายความเจริญให้อำนาจจ่ายค่าบริการได้ในภูมิภาค สำหรับกฎหมายเน้นคุ้มครองส่วนบุคคล กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกระทรวงการคลังกำลังศึกษากฎหมายชำระเงิน รวมทั้งยังเน้นย้ำให้ดูแลตัวเอง เพราะยังมีช่องโหว่ เนื่องจากโลกไซเบอร์ต้องเน้นป้องกันภัยเพื่อความปลอดภัยส่วนตัว เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีดิจิตอล โดยผลักดันให้หมู่บ้านที่เหลืออีกร้อยละ 20 เข้าถึงอินเทอร์เน็ตภายในปีนี้ ผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อช่วยให้ร้านค้าชุมชน โอทอป และโชวห่วยสามารถค้าขายผ่านออนไลน์ง่ายขึ้น หลังจากนี้รัฐจะวางอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เคเบิลใต้น้ำให้ครอบคลุม ตั้งเป้าฝึกอบรมแกนนำชุมชนให้ได้ 1 ล้านคนในปีนี้ เพื่อให้ความรู้คนในหมู่บ้าน
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ระบบการเงินเป็นข้อมูลดาต้าไม่ได้ใช้เงินผ่านธนบัตรผ่านแบงก์ รัฐบาลได้หารือร่วมกันหลายหน่วยงานเกี่ยวกับวิธีการป้องกันระบบแฮกเกอร์ และทดลองเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อหาแนวทางป้องกันหลายเหตุการณ์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้ใช้บริการมากขึ้น สำหรับสถาบันการเงินต้องเตรียมพร้อมรองรับนวัตกรรมใหม่ หากไม่ทำคนอื่นทำตนเองจะลำบาก ธนาคารจึงมุ่งเน้นสร้างความมั่นใจ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดของบุคคลไม่ใช่ตัวระบบ
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ต้องเน้นด้านนวัตกรรมทั้งดิจิทัลและระบบเดิม จากนี้ไปบริษัทจดทะเบียนต้องใช้ Clould Service ยอมรับว่าภาษาอังกฤษสำคัญมากเป็นพื้นฐานสำคัญของการอ่านข้อมูลดิจิตอลและอย่าหลงเชื่อข้อมูลผ่านระบบไลน์ ต้องตรวจสอบความถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาโอกาสของกลุ่มมิจฉาชีพหรือกลุ่มต่างๆ อยากเน้นย้ำการมีดิจิทัลเป็นการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีหรือรายย่อยตัวเล็กจากยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการตัวเล็กเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีเปิดให้ทุกฝ่ายเข้าถึงได้มากขึ้น
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลต้องการเน้นพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ จากเอสเอ็มอีคนตัวเล็กและรายย่อย เพราะประเทศกำลังพัฒนาต้องพัฒนาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างทรัพย์สินดิจิตอล เช่น ข้อมูลในรูปแบบ BigData จากทุกภาคส่วน เพราะข้อมูลด้านต่างๆ มีความสำคัญมาก ทั้งเรื่องจีดีพีของประเทศ บทวิเคราะห์ ผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีทุกด้าน เมื่อข้อมูลได้รับการพัฒนาจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะความท้าทายติดมากับโอกาส จึงต้องเสริมทักษะบุคลากรแรงงานให้มีคุณภาพ เพราะไทยมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงาน เมื่อแรงงานต่างด้าวกลับประเทศต้องใช้ระบบอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ทำงานทดแทน จึงต้องพัฒนาระบบต้นทุนประกอบการ
ดังนั้น ปี 2561 จึงต้องการให้ทุกส่วนร่วมกันปรับปรุงรองรับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อหวังเข้าไปพัฒนาทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุนทั้งการฝึกอบรมและสินเชื่อ รวมทั้งดึงเอกชนรายใหญ่มาร่วมโครงการ Big brother นำเอกชนรายใหญ่ 25 ราย ช่วยยกระดับให้แก่รายเล็ก เพื่อใช้ประโยชน์จากดิจิตอลได้จริงและเป็นการทรานสฟอร์มไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมองว่าน่าจะใช้เวลาเป็น 10 ปีในการปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลและจีดีพีโตได้อย่างยั่งยืนได้