xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มยางพาราทำถนน 4.37 หมื่นตัน ทล.-ทช.ปรับแผนคาดของบกลางหมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” หารือบริษัทยางมะตอย 9 ราย ร่วมมือเพิ่มปริมาณยางพาราในการผลิตยางมะตอยทำถนน พร้อมปรับแผน ทล.-ทช.ในปี 61 เพิ่มการใช้ยางดิบรวมกัน 4.37 หมื่นตัน คาดของบกลาง 1 หมื่นล้าน ด้าน ทล.เกลี่ยแผนใช้ยางพาราในงานอุปกรณ์ เช่น หลักนำทาง, หลักกิโลฯ, แบริเออร์ ร่วมกับปูผิวถนน ลดต้นทุน เพื่อคุมงบประมาณ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิตยางแอสฟัลต์ผสมยางพารา จำนวน 9 บริษัท และโรงกลั่น 4 โรงในการใช้ยางพาราสำหรับการก่อสร้างถนนและแผนงานของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 มีแผนใช้นำยางพาราจำนวน 12,544 ตัน ซึ่งตามนโยบายรัฐบาลในการใช้ยางพาราเพิ่มนั้น ได้พิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางดิบอีก 31,213 ตัน รวมปริมาณน้ำยางทั้งสิน 43,757 ตัน เป็นของทล. ประมาณ 23,493 ตัน ทช.ประมาณ 20,264 ตัน

นอกจากนี้ โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นงบผูกพันต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 เป็นขั้นตอนที่จะปูผิวถนนในปี 2561นั้น ได้ให้ ทล.และ ทช.ปรับแบบให้ใช้น้ำยางดิบในขั้นตอนนี้ ซึ่งได้หารือกับผู้ผลิตยางลดราคาในส่วนนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการของบประมาณเพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขปริมาณน้ำยางดิบที่จะใช้ในส่วนนี้

ทั้งนี้ ได้แจ้งบริษัทผู้ผลิตยางให้ความสำคัญกับคุณภาพของยางผสมแอสฟัลต์ ซึ่งได้มอบหมายให้ ทล.และทช. กำกับการผลิตการผสมยางตั้งแต่โรงงานผลิต แปบวิจัย ไปจนหน้างานที่จะปูผิวถนน เพื่อมั่นใจว่าเป็นยางล็อตเดียวกันที่ผ่านการตรวจสอบมา หากพบปัญหาจะต้องรื้อผิวถนนเพื่อแก้ไขใหม่ ในขณะที่รัฐบาลได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยรับซื้อยางจากเกษตรกร โดยขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตยางซื้อจาก กยท.โดยตรง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการในการรับซื้อยางใหม่และเม็ดเงินสู่เกษตรกรไม่ผ่านคนกลาง จะให้ใช้ยางพาราในงานถนนต่อเนื่องปี 2562 แต่ทั้งนี้ขึ้นกับราคายางดิบในตลาดด้วย ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาไม่ค่อยดี ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ในงานถนน แต่หากราคายางดีขึ้น จะลดสัดส่วนเพื่อให้ราคายางเป็นไปตามกลไกตลาด ขณะที่ปี 2560 ใช้ยางพาราในงานถนนประมาณ 10,714 ตัน แบ่งเป็น ทล. 3,542 ตัน, ทช. 7,172 ตัน โดยถนนที่ปูผิวด้วยยางพาราผสมแอสฟัลต์ ต้นทุนเพิ่มขึ้น 15-20% แต่ อายุการใช้งานนานกว่าและได้ช่วยเหลือเกษตรกร

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ปี 2561 เป้าหมายใช้น้ำยางดิบที่ 23,493 ตัน โดยได้ใช้แล้ว 2,342 ตัน วงเงิน 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่มนั้น รมว.คมนาคมกำหนดงบประมาณไว้ 5,000 ล้านบาทซึ่งจะขอจากงบกลางปีมาดำเนินงาน ซึ่งได้แบ่งงานออกเป็น 6 ประเภท ใช้น้ำยางดิบ 21,152 ตัน ได้แก่ ยางพาราผสมทำหลักนำทาง วงเงิน 500 ล้านบาท ใช้ปริมาณน้ำยางดิบ 6,830 ตัน, ทำแบริเออร์พลาสติกวงเงิน 876 ล้านบาท ใช้น้ำยางดิบ 6,649 ตัน, หลักกิโลย่อย วงเงิน 187 ล้านบาท ใช้น้ำยางดิบ 1,660 ตัน, งานพาราซอยซีเมนต์ (ผสมกับลูกรังปูถนนระยะทาง 44 กม.) วงเงิน 101 ล้านบาท ใช้น้ำยางดิบ 789 ตัน, งานฉาบผิวทาง พาราสเลอรีซีล วงเงิน 2,000 ล้านบาท ใช้น้ำยางดิบ 2,286 ตัน, พาราแอสฟัลต์คอนกรีต (AC) วงเงิน 1,336 ล้านบาท ใช้น้ำยางดิบ 2,848 ตัน

สำหรับผู้ผลิตยางมะตอยที่ผสมยางพารา มี 9 บริษัท ซึ่งยินดีให้ความร่วมมือ ได้แก่ บริษัท ทิปโก้แอสฟัสท์ จำกัด (มหาชน) โรงงานนครราชสีมา, บริษัท ทิปโก้แอสฟัสท์ จำกัด (มหาชน) โรงงานพิษณุโลก, บริษัท เรย์โคลแอสฟัลท์ จำกัด, บริษัท ไทยบิทูเมน จำกัด, บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท โซล่าแอสฟัลท์ จำกัด, บริษัท ซีโก้แอสฟัลท์ จำกัด, บริษัท เอเชี่ยนแอสฟัลท์ จำกัด, บริษัท ยูไนเตดแอสฟัลท์ จำกัด โรงกลั่น 4 บริษัท คือ ปตท., ทยลู้บเบส, ไออาร์พีซี, เอสโซ่


กำลังโหลดความคิดเห็น