xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพการบินไทยร้องนายกฯ ปลดบอร์ดเซ่นผลงาน-กลุ่ม รปภ.ขอชะลอใช้ กม.รปภ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มสหภาพการบินไทย ร้อง “ประยุทธ์” ใช้ ม.44 ปลดบอร์ดยกชุด หลังบริหารผิดพลาด ส่อไม่โปร่งใส ชี้ผลงานไม่ควรอยู่ต่อ ด้านกลุ่มบริษัท รปภ.ขนาดเล็ก ร้องใช้ ม.44 ชะลอการบังคับใช้ กม.รปภ.1 ปี พร้อมจัดอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

วันนี้ (18 เม.ย.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงาน ก.พ. กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย นำโดยนายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพฯ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้ใช้มาตรา 44 ปลดคณะกรรมการบริหารการบินไทย และฝ่ายบริหาร เนื่องจากมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าบริหารงานไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม ทั้งการตัดสินใจผิดพลาดที่ซื้อเครื่องบินมาจอดทิ้งไว้ถึง 17 ลำ จนต้องขายต่อๆ ทั้งที่มีอายุใช้งานเหลือประมาณ 6-8 ปี ทำให้งบการเงินปี 2551-2559 ขาดทุนประมาณ 30,134 ล้านบาท รวมถึงแผนปฏิรูปที่ล้มเหลว ซึ่งทางบริษัทฯ ได้แจ้งผลประกอบการในปี 2559 ว่ามีกำไรประมาณ 47 ล้านบาท แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นได้ว่าบริษัทขาดทุนก่อนมีภาษีเงินได้ประมาณ 1,417.42 ล้านบาท เมื่อหักออกด้วยภาษีที่ต้องจ่าย 1,464.24 ล้านบาทแล้ว ผลต่างจึงเป็นกำไรที่ได้กลับคืน จึงถือว่ากำไรได้คืนจากภาษี ไม่ใช่การดำเนินตามแผน

“หากยังปล่อยไว้ปัญหาในการบินไทยก็จะยังมีต่อไป หากใช้วิธีปกติก็ต้องให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้พิจารณา ถ้าไม่เกรงใจกันแล้วดูจากผลงานก็ไม่ควรให้อยู่ต่อ ควรจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นที่มีความสามารถจริงๆ เข้ามาบริหาร เพราะที่ผ่านมาการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ ตัวกรรมการเองก็ยังต้องจ้างที่ปรึกษามาอีกทอด แล้วทำไมไม่ให้ที่ปรึกษาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ใหญ่ไปเลย ส่วนคณะกรรมการบริหารการบินไทยก็มาจากข้าราชการประจำ กับนักธุรกิจสายอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจการบินซึ่งไม่ได้ทำให้การบินไทยดีขึ้นเลย ถ้าทำผิดพลาดก็ต้องยกออกทั้งชุดเลย” นายดำรงค์กล่าว

ด้านนายภูมิพัฒน์ สุคนธราช แกนนำกลุ่มบริษัทพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ขนาดเล็ก 25 บริษัท ภาคตะวันออก ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ออกไป 1 ปี

นายภูมิพัฒน์กล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ทำให้ รปภ.เอกชนเดือดร้อนมากเพราะกลัวติดคุก เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตอาชีพ รปภ.จึงได้ทยอยลาออก นอกจากนี้ รปภ.ที่ทำงานได้ต้องฝึกอบรมตามมาตรา 34 แต่สถานฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยอยู่ในต่างจังหวัด และไม่มีในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครจึงไม่สามารถไปฝึกอบรมได้ จึงขอให้นายกฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนรากหญ้าที่อยากทำงาน รปภ. ด้วยการขอให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ออกไป 1 ปี พร้อมให้จัดศูนย์อบรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากแก้ไขปัญหาได้จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน





กำลังโหลดความคิดเห็น