ขสมก. ใส่เกียร์เดินหน้า ซื้อเมล์ NGV 489 คัน ยันมีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐ ประมูลแล้ว 7 ครั้ง มีปัญหา ต้องใช้วิธีคัดเลือก ยันกลุ่ม ช ทวี เสนอต่ำกว่าราคาจัดหา ส่วนราคากลาง แค่อ้างอิง ส่วนบริษัทจีนเสนอซื้อ 1 แถม 1 ทางเอกอัครราชทูตจีน แจ้งยืนยันว่า เป็นบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ไม่เข้าโครงการ G to G
จากกรณีที่ นายกรณ์ รูโปบล ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อเฝ้าระวังการคอร์รัปชันในภาครัฐ ยื่นหนังสือถึง นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) ขอให้ทบทวนโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีคัดเลือกอาจไม่โปร่งใส ส่งผลให้ต้องสูญเสียงบประมาณที่สูงเกินไป อีกทั้งยังให้บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ไม่เคยเข้าร่วมการประกวดราคาของ ขสมก. มาก่อนเข้าร่วมเสนอราคาด้วย ทั้งนี้ ราคาที่มีการจัดซื้อในครั้งนี้สูงกว่าราคาประมูลรอบก่อนๆ หลายร้อยล้านบาท
ล่าสุด ขสมก. ได้มีหนังสือชี้แจงสื่อมวลชน ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐให้เร่งจัดหา รถโดยสารใหม่ทดแทนของเดิมอย่างรวดเร็วและถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ประกอบกับปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้จัดสรรเส้นทางเดินรถให้องค์การจัดรถโดยสารเข้าเดินรถตามเส้นทางที่ได้รับจัดสรร ซึ่ง ขสมก. มีรถโดยสารไม่เพียงพอที่จะนำมาวิ่งในเส้นทางดังกล่าว
โดยได้ดำเนินการจัดหาโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์มาแล้วครั้งหนึ่งมีผู้มาซื้อเอกสาร จำนวน 8 ราย แต่เมื่อถึงเวลาเสนอราคาทางระบบสารสนเทศของกรมบัญชีกลางกลับไม่มีผู้ใดมายื่นข้อเสนอและเสนอราคาซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะไม่มีผู้เข้ายื่นข้อเสนอและเสนอราคา ประกอบกับ ขสมก. ได้ดำเนินการจัดหามาแล้วประมาณ 7 ครั้ง มีผู้เข้ายื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติถูกต้องเข้ามาเสนอราคาไม่เกิน 2 ราย จึงทำให้เห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม น้อยราย หากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทำให้ไม่ทันต่อความต้องการใช้รถโดยสาร
อีกทั้ง TOR ของรถโดยสารดังกล่าวเป็นการกำหนดตามความต้องการของ ขสมก. ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด ต้องผลิตหรือประกอบโดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะ จากเหตุผลดังกล่าว หาก ขสมก. ไม่ได้รถโดยสารมาใช้งานโดยเร็วจะส่งผลกระทบกับการให้บริการประชาชน จึงดำเนินการโดยวิธีคัดเลือกตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) โดยใช้เหตุผล (ค) ประกอบ (ข) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 74 โดยดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะทำหนังสือเชิญชวน จากผู้ประกอบการที่สนใจจริงๆครั้งล่าสุดที่มาซื้อเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) จำนวน 8 ราย และได้ลงทะเบียนในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) แล้ว แต่มีคุณสมบัติเบื้องต้นตรงตามเงื่อนไข จำนวน 7 ราย ได้แก่
(1) บริษัท ไทยเทคโนโลยี แอนด์ เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด
(2) บริษัท ซุปเปอร์เซ็นทรัลแก๊ส จำกัด
(3) บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอ็นเนอจี จำกัด
(4) บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
(5) บริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน)
(6) บริษัท อัพเดท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
(7) บริษัท วินโคสท์ ออโตโมทีฟ จำกัด
ส่วนกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด มีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง เนื่องจากปลัดกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1653/2560 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 สั่งให้เป็น ผู้ทิ้งงาน และได้แจ้งเวียนชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานแล้ว จึงมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามที่ม ขสมก. กำหนด
ต่อมามีผู้ประกอบการ จำนวน 6 ราย มีหนังสือถึง ขสมก. ขอเข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง ขสมก. ได้ทำการตรวจสอบมีคุณสมบัติเบื้องต้นตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด จำนวน 4 ราย ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการทั้ง 4 รายดังกล่าวมีคุณสมบัติเบื้องต้นถูกต้อง จึงเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังฯข้อ 74(1) เพื่อให้มีผู้เข้ายื่นข้อเสนอมากราย และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8(2) เรื่องโปร่งใสที่ให้มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการที่สนใจทุกรายโดยเท่าเทียมกัน จึงได้จัดทำหนังสือเชิญชวนเพิ่มเติม ได้แก่
(1) บริษัท ยูพีพี พาวเวอร์ จำกัด
(2) บริษัท แสงเจริญ ทูลส์ เซ็นเตอร์ จำกัด
(3) บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)
(4) บริษัท เอ็นจีวี เอ ทรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัด
กำหนดยื่นข้อเสนอโดยวิธีคัดเลือกวันที่ 7 ธันวาคม 2560 เวลา 08.30 - 16.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 สำนักงานใหญ่ มีผู้ยื่นข้อเสนอ จำนวน 1 ราย คือ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัททั้ง 2 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการที่คณะกรรมการมีหนังสือเชิญชวน
ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว ขสมก. มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐให้เร่งจัดหารถโดยสารใหม่ทดแทนของเดิมอย่างรวดเร็ว จึงได้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 75 กำหนดว่า “หากปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว หรือมีผู้ยื่นข้อเสนอหลายรายแต่ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือเชิญชวนเพียงรายเดียว ให้คณะกรรมการดำเนินการตามข้อ 56 โดยอนุโลม”
โดยกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลัก เสนอราคาสูงกว่าราคากลางไม่เกิน 10% ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 57 วรรคสอง กำหนดว่า “...ในกรณีที่ปรากฏว่าราคาของผู้ที่ชนะการเสนอราคายังสูงกว่าวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างให้คณะกรรมการดำเนินการ ดังนี้” และข้อ 57 (1) กำหนดว่า “....หากผู้เสนอราคารายนั้นยอมลดราคา และราคาที่เสนอใหม่ไม่สูงกว่าวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างหรือสูงกว่าแต่ส่วนที่สูงกว่านั้นไม่เกินร้อยละสิบของวงเงินที่จะซื้อหรือจ้าง หรือต่อรองราคาแล้วไม่ยอมลดราคาลงอีกแต่ส่วนที่สูงกว่านั้นไม่เกินร้อยละสิบของวงเงินที่จะซื้อหรือจ้าง ถ้าเห็นว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่เหมาะสม ก็ให้เสนอซื้อหรือจ้างจากผู้ที่เสนอราคารายนั้น”
ส่วนการจัดทำราคากลาง ขสมก. ได้สอบถามราคาจากผู้ประกอบการ จำนวน 5 ราย เพื่อนำมากำหนดเป็นราคากลางและเป็นราคาอ้างอิงในการจัดหาครั้งนี้ อยู่ในช่วงราคา 3.549 - 5.000 ล้านบาท แต่เพื่อประโยชน์ของ ขสมก. ได้นำราคาของรายต่ำสุดมากำหนดเป็นราคากลาง ในขณะที่ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 กำหนดความหมาย “ราคากลาง” ว่า “ราคาเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับเปรียบเทียบราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้ยื่นเสนอไว้ซึ่งสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จริง” จึงทำให้ราคาที่ ขสมก. ใช้เป็นราคาต่ำกว่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม ราคาที่ต่อรองได้นั้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่สอบถามรรคาจากผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย ยังอยู่ในเกณฑ์ราคาต่ำของช่วงราคานั้น
***แจง บริษัทจีนเสนอซื้อ 1 แถม 1 ไม่ใช่ รสก.จีน ไม่เข้าโครงการ G to G
ในส่วนของเรื่องที่มีบริษัท Guizhou Guihang Yunma Automobile Industry จำกัด ซึ่งแจ้งว่าถือหุ้นโดยรัฐบาลจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ ยื่นเสนอโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 489 คัน และ รถโดยสารแบบให้เปล่าอีก 489 คัน รวมถึงการให้บริการซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลาในสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) นั้น ขสมก. มีข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอดังกล่าว ซึ่ง รชค. ได้เชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 โดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แจ้งยืนยันว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ซึ่งอาจไม่เข้าเกณฑ์ของรัฐบาลจีนในการเข้าร่วมโครงการ G to G ซึ่งฝ่ายจีนยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินการโครงการแบบ G to G แต่เห็นว่าควรรอผลการดำเนินการจัดหาครั้งที่ 8 ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 เสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ขสมก. ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างถูกต้องแล้ว โดยได้เชิญผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยทุกครั้ง จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการจัดหาขององค์การเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้