“อาคม” สั่ง ขบ.เร่งออกระเบียบคุมบริษัทเช่าเหมารถบัส/รถบรรทุก ต้องมีผู้จัดการด้านปฏิบัติการและความปลอดภัย และต้องผ่านการอบรม ทำหน้าที่ตรวจสภาพรถและคนขับให้มีความพร้อมก่อนออกให้บริการ เล็งเพิ่มบทลงโทษ/ค่าปรับ ขณะที่ผลประชุมร่วม “ไทย-ญี่ปุ่น” พอใจมาตรการถนนปลอดภัย เตรียมขยายพื้นที่นำร่องในปี 61 ด้าน ทช.ปรับปรุงจุดเสี่ยง 100 จุด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (MOC on ROAD Safety) ครั้งที่ 5 ว่า จากมาตรการระยะสั้นในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ขอนแก่น อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 เช่น ทางพื้นผิวจราจรสีแดง, ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายจำกัดความเร็ว ชะลอความเร็ว บริเวณทางโค้ง ทางลาดชัน จุดเสี่ยง ชุมชน หน้าโรงเรียน นั้นผลเป็นที่น่าพอใจ โดยอุบัติเหตุลดลงและไม่มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่นำร่อง
ทั้งนี้ ได้ตกลงที่จะกำหนดมาตรการลดอุบัติเหตุในเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 เป็นต้นไป ขณะที่ในปี 2561 มาตรการต่อเนื่องในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดเดิมใน 11 แห่ง และขยายพื้นที่นำร่อง 8 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินเชื่อมระหว่างจังหวัด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ที่ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน-ชัยนาท ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงชะอำ-หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทางหลวงหมายเลข 3312 หน้าโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ จ.ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 4029 กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต และทางหลวงชนบทที่เชื่อมภายในจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท สาย นบ.1011 จ.นนทบุรี สาย สป.2001 จ.สมุทรปราการ สาย นม.3025 จ.นครราชสีมา และสาย ปท.3004 จ.ปทุมธานี ซึ่งกระทรวงฯ จะคัดเลือกพื้นที่นำร่องดังกล่าวเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์โครงการ Thailand Smart Drive ในใจของคนไทยทุกคนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561
***สั่ง ขบ.ออกกฎคุมบริษัทรถบัสเช่าเหมา
นายอาคมกล่าวว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจาก 3 ปัจจัย คือ คน, ตัวรถ, สภาพถนน ซึ่งการแก้ปัญหาให้ยั่งยืนนั้นจะต้องใช้เวลานาน จากอุบัติเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้นกับทั้งรถบรรทุก และกรณีรถตู้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นประสบอุบัติเหตุพุ่งชนท้ายรถบรรทุกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงรถบัสท่องเที่ยวพลิกคว่ำที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์นั้น ทำให้ต้องหามาตรการเพิ่มเติม ซึ่งได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกมาตรการควบคุมด้านคนขับและตัวรถ โดยจะกำหนดให้บริษัท หรือผู้ประกอบการให้เช่าเหมารถ ทั้งรถบัสโดยสาร และรถตู้โดยสาร บริษัทขนส่ง หรือผู้ให้เช่ารถบรรทุกหรือรถสำหรับขนส่งสินค้า จะต้องมีผู้จัดการด้านปฏิบัติการและความปลอดภัย(Operation & Safety Management) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสภาพรถให้มีความพร้อมก่อนออกให้บริการ ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบเอง นอกเหนือจากการตรวจสอบของกรมการขนส่งฯ แล้ว
ส่วนคนขับรถจะต้องตรวจสอบความพร้อมและชั่วโมงการทำงานตามกฎหมายกำหนดเช่นกัน โดยตั้งเป้าให้มีผลบังคับใช้ภายในกลางปี 2561
“จะเป็นระบบที่จะกำกับดูแลความปลอดภัยที่ได้ผล เพราะจะทำให้มั่นใจสภาพรถไม่มีปัญหาก่อนออกไปใช้ ส่วนคนขับก็เช่นเดียวกัน ซึ่ง ขบ.จะทำมาตรการและคู่มือด้านความปลอดภัย โดยจะออกเป็นกฎกระทรวงหรือข้อบังคับกรมการขนส่งฯ ซึ่งแต่ละบริษัทจะต้องส่งคนเข้ามาอบรมเพื่อให้ได้ใบรับรองเพื่อไปทำหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมี”
นอกจากนี้จะมีการพิจารณาปรับปรุงบทลงโทษและบทปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งกฎหมายของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุมีบทลงโทษปรับมากกว่าของไทย 10 เท่า ค่าปรับสูงพอๆ กับซื้อรถใหม่ ซึ่งถือว่าหนักมาก
***ทช.เร่งปรับปรุงจุดอันตราย 100 จุดเสร็จก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ 2561
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในอดีต ทช.จะปรับปรุงจุดอันตรายบนทางหลวงชนบทให้เสร็จสิ้น จำนวน 100 จุดก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ 2561และในวันที่ 14 พ.ย. 60 คณะทำงานกรมทางหลวงชนบทจะนำคณะทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่น ลงสำรวจพื้นที่นำร่องบนทางหลวงชนบท 2 สายทาง ได้แก่ สาย นม.3052 จังหวัดนครราชสีมา และสาย ปท.3004 จังหวัดปทุมธานี เพื่อวิเคราะห์ศึกษาแนวทางการปรับปรุงถนนสายดังกล่าวให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และจะใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงความปลอดภัยบนทางหลวงชนบทที่มีลักษณะเดียวกันกับพื้นที่นำร่องดังกล่าวต่อไป