กรมทางหลวงชนบทจับมือญี่ปุ่นลงพื้นที่สำรวจ เดินหน้าปรับปรุงถนนแก้จุดอันตราย คัด 10 สายทางนำร่องถนนเกิดอุบัติเหตุมากกว่า 3 ครั้ง พร้อมวางแผนรับมือเดินทางช่วงปีใหม่ปี 61 แก้ไขจุดเสี่ยงลดสถิติอุบัติเหตุบนถนน
นายสมัย โชติสกุล รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (MOC on Road Safety) ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่นำร่อง (Field Survey)ว่า ทช.ได้เสนอสายทางเพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่องในการยกระดับความปลอดภัยจำนวน 10 สายทาง โดยคัดเลือกจากที่เกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ 3ครั้งขึ้นไปในรอบ 3 ปี (Black Spot) และครอบคลุมทุกรูปแบบการใช้งานและลักษณะภูมิประเทศ
ได้แก่ 1. ถนนเข้าสู่แหล่งอุตสาหกรรม ทางหลวงชนบทสาย สป.2001 จังหวัดสมุทรปราการ 2. ถนนเข้าสู่แหล่งที่อยู่อาศัย ทางหลวงชนบทสาย นบ.1011จังหวัดนนทบุรี 3. ถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว ทางหลวงชนบทสาย นม.3052 จังหวัดนครราชสีมา 4. ถนนเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ทางหลวงชนบทสาย สต.3009 จังหวัดสตูล 5. ถนนเข้าสู่ระบบการขนส่ง เช่น สถานีรถไฟ สนามบิน เป็นต้น ทางหลวงชนบทสาย ชบ.3009 จังหวัดชลบุรี
6. ถนนผังเมือง ถนนวงแหวนรอบกลาง ทางหลวงชนบทสาย ชม.3029 จังหวัดเชียงใหม่ 7. ถนนในพื้นที่ชนบท ทางหลวงชนบทสาย นม.3052 จังหวัดนครราชสีมา 8. ถนนเลียบชายฝั่ง/เลียบคลองชลประทาน ทางหลวงชนบทสาย ปท.3007 จังหวัดปทุมธานี 9. ถนนบนภูเขา ทางหลวงชนบทสาย ลย.3002 จังหวัดเลย 10. ถนนในเขตชุมชน/การใช้งานหลากหลาย ทางหลวงชนบทสาย ปท.3004 จังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้ ทช.และ MLIT ได้พิจารณาการขยายพื้นที่นำร่อง (Pilot Study) ในการดำเนินงานภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น อีก 2 สายทาง ซึ่งจะวิเคราะห์ศึกษาแนวทางการปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น คือ สายทาง นม.3052 แยกทางหลวง 304-บ้านท่ามะปราง อำเภอวังน้ำเขียว ปากช่อง ระยะทาง 69.543 กม. และสายทาง ปท.3004 แยกทางหลวง 305-บ้านลำลูกกา ตำบลธัญบุรี อำเภอธัญบุรี ระยะทาง 10.005 กม.
นอกจากนี้ จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงให้แล้วเสร็จก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2561 และจะประเมินผลการปรับปรุงความปลอดภัยจุดเสี่ยงทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมต่อไป