บอร์ด ทอท.อนุมัติซื้อระบบ APM จากกลุ่มไออาร์ทีวี ที่ 2.99 พันล้าน แม้วงเงินจะสูงกว่าราคากลางถึง 3.62% หวั่นล้มประมูลเปิดใหม่จะกระทบสุวรรณภูมิเฟส 2 ล่าช้า พร้อมอนุมัติให้ทำแผนบริหารสนามบินภูมิภาคของ ทย.29 แห่ง เพื่อเตรียมเสนอ ครม.
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธาน วันที่ 30 ต.ค. มีมติเห็นชอบผลการประกวดราคางานซื้อพร้อมติดตั้งงานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) โดยวิธีพิเศษ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) ซี่งนิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี เป็นผู้ชนะประมูล เป็นเงิน 2,803,644,859.81 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (196,255,140.19 บาท) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,999,900,000 บาท
ทั้งนี้ หลังจาก ทอท.ได้เปิดประมูลระบบ APM มาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 แต่ไม่สามารถจัดหาผู้ขายได้ ทอท.จึงได้เปลี่ยนวิธีจัดหาเป็นวิธีพิเศษปรับข้อกำหนดและรายละเอียดในการจัดหา (TOR) เฉพาะส่วนของการยื่นเอกสารเสนอราคา ให้สอดคล้องกับวิธีพิเศษ และเกณฑ์ในการคัดเลือกเท่านั้น ไม่มีผลต่อรายการประกอบแบบ (Specification) โดยได้มีหนังสือเชิญผู้ผลิตทั้ง 4 ราย และผู้ที่เคยซื้อเอกสารประมูลทั้งหมด 9 รายเข้าร่วมแข่งขันในการยื่นข้อเสนอ
ผู้สนใจยื่นเสนอราคาจำนวน 2 ราย คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และนิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี (ประกอบด้วย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยอิงเกอร์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท เรืองณรงค์ จำกัด, บริษัท วิวเท็กซ์ จำกัด) และเมื่อเปิดซองเอกสารข้อเสนอด้านราคาปรากฏว่า ผู้เสนอราคาทั้ง 2 รายเสนอราคาที่สูงกว่าราคากลาง 2,894,959,247.20 บาท จึง ได้เจรจาต่อรองราคาของการจัดหาฯ กับทั้ง 2 ราย ปรากฏว่า นิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 2,999,900,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกินกว่าราคากลาง คิดเป็น 3.62% ซึ่ง ทอท.ได้พิจารณาความเสี่ยงหากมีการจัดซื้อใหม่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการและจะส่งผลกระทบต่อความล่าช้าของโครงการฯ ในภาพรวม จึงเสนอบอร์ดเห็นชอบ
โดยราคาดังกล่าวยังสูงกว่าราคากลาง 3.62% แต่บอร์ดและฝ่ายบริหารพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ เช่น ราคาวัสดุก่อสร้าง โดยอิงกับราคาตลาดปัจจุบัน พบว่าราคาที่ IRTV เสนอยังเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด อีกทั้งไม่มั่นใจว่า หากเปิดประกวดราคารอบที่ 4 จะได้ราคาที่ต่ำกว่านี้หรือไม่ เพราะราคาวัสดุก่อสร้างปัจจุบันได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันจะทำให้กำหนดเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 7 เดือน
“กรอบเวลาที่เราตั้งไว้คือ งานก่อสร้างเสร็จทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน 2562 จากนั้นทำการทดสอบระบบอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งหากเปิดประกวดราคาใหม่ เป็นรอบที่ 4 และขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ด้วย ก็ต้องใช้เวลาศึกษา พ.ร.บ.ใหม่อีก ประเมินว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 เดือนกว่าการประมูลจะเสร็จ การเปิดเฟส 2 ก็จะดีเลย์ไป 7 เดือนเช่นกัน บอร์ดพิจารณารอบคอบแล้ว จึงอนุมัติผลประมูล คาดว่าจะเซ็นสัญญากับ IRTV ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ และงาน APM จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2563” นายนิตินัยกล่าว
สำหรับงานที่จะเปิดประกวดราคาต่อไป คือ งานก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกและสำนักงาน วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยจะเปิดประกวดราคาปลายปีนี้ซึ่งถือเป็นงานสุดท้ายในแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560)
นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบบทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานภายใต้แนวคิดว่า ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่บริหารท่าอากาศยานหลักของประเทศควรจะเป็นผู้บริหารท่าอากาศยาน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน จำนวน 29 แห่ง และให้ ทอท.จัดทำแผนดำเนินงานและช่วงเวลาที่จะเข้าบริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยานเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6มีนาคม 2560 เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยให้ ทอท.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารท่าอากาศยานและเพิ่มบทบาทการดำเนินธุรกิจท่าอากาศยานให้บริการครบวงจร รวมทั้งให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) พิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยาน และอาจมีแผนทางเลือกให้ ทอท.เข้ามาบริหารจัดการ หรือให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย.เพื่อสร้างโครงข่ายระบบการขนส่งทางอากาศโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ
โดย ทอท.เห็นว่า การมีผู้บริหารเดียว (Single Operator) เป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านสังคมที่จะต้องมีการรักษามาตรฐาน และคงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติควบคู่กันไป และด้านเศรษฐกิจที่จะมีการลงทุนที่บูรณาการ เหมาะสมตามสถานะ (Position) ของแต่ละสนามบิน และมีการบริหารจัดการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานที่ดี โดย ทอท.มีความพร้อมทั้งในด้านทุนและบุคลากรในการบริหารจัดการสนามบินของประเทศอย่างบูรณาการ อันจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคและของโลกต่อไปอย่างยั่งยืน