xs
xsm
sm
md
lg

งัดมาตรการทางภาษีฟันแก๊งหมวกกันน็อก รีดดอกเบี้ยเกษตรกร หวั่นถูกยึดที่กว่า 3,400 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กระทรวงยุติธรรมจับมือคลัง ใช้มาตรการทางภาษีบังคับใช้แก๊งนายทุนเงินกู้นอกระบบ 6 กลุ่ม วงเงินหมุนเวียนกว่า 1,400 ล้านบาท ชี้ส่วนใหญ่เหยื่อใหญ่จะเป็นชาวเกษตรกรทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย รวมกว่า 3,400 ไร่

วันนี้ (15 ก.ย.) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมกระทรวงการคลัง นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ พ.ต.ท.วิชัย สุวรณประเสริฐ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ เข้าพบหารือกับนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อส่งมอบข้อมูลและประสานความร่วมมือในการปราบปรามนายทุนเงินกู้ที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน ภายใต้กรอบภารกิจของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการ

นายวิศิษฎ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากดีเอสไอดำเนินการต่อทุนเงินกู้รายใหญ่ในความผิดอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทางการสืบสวนยังพบว่ามีเงินหมุนเวียนจากการปล่อยกู้จำนวนมาก จึงได้ประสานข้อมูลให้กรมสรรพากรเพื่อนำมาตรการทางภาษีมาบังคับใช้กับนายทุนกลุ่มนี้อย่างจริงจังเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนด้วยวิธีการอำพรางการให้กู้ยืมเงินเพื่อหวังดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ตอบแทนในจำนวนเงินที่สูง โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย

“การหารือในวันนี้เพื่อให้มีการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิธีการประสานงานเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอธิบดีดีเอสไอได้ส่งมอบบัญชีรายชื่อนายทุนเงินกู้นอกระบบให้กับนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อดำเนินมาตรการทางภาษี จำนวน 6 กลุ่ม วงเงินหมุนเวียนกว่า 1,400 ล้านบาท มีที่ดินรวมกันกว่า 3,400 ไร่ และมีข้อมูลว่าได้ฟ้องร้องบังคับคดีลูกหนี้กว่า 1,800 ราย การบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างใกล้ชิดครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ในมิติของการดำเนินการอย่างจริงจังต่อเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ”

นายวิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังเล็งเห็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน จึงได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบพิโกไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อรายย่อยภายในจังหวัดให้กู้ยืมได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท สามารถยื่นคำขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังโดยตรง หรือยื่นเอกสารผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทุกสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.1359.go.th หรือโทรศัพท์สายด่วน 1359 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น