ไทย-จีนลงนามสัญญา 2 ฉบับ คิกออฟรถไฟไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-โคราช “อาคม” สั่งวางแผนเตรียมสำรวจออกแบบช่วงโคราช-หนองคายต่อเนื่อง หวังก่อสร้างตลอดสายใน 4 ปี เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ สปป.ลาว ในปี 64-65 วิ่งทะลุถึงคุนหมิงของจีนตามยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อ one belt one road
เมื่อวันที่ 4-5 กันยายน 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue - EMDCD) ในช่วงการประชุม BRICS Xiamen Summit ครั้งที่ 9 ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมลงนามสัญญาภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 2.1 การออกแบบรายละเอียด (Detailed Design Services Agreement) วงเงิน 1,706.771 ล้านบาท และสัญญา 2.2 ที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง (Construction Supervision Consultant Services Agreement) วงเงิน 3,500 ล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากลงนามสัญญาออกแบบและสัญญาควบคุมงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาแล้ว หลังจากนี้จะวางแผนการออกแบบระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายต่อเนื่องเลย เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการสำรวจและออกแบบ แม้ว่าในช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบ และโครงการรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือได้เตรียมพื้นที่เผื่อไว้ให้สำหรับรถไฟความเร็วสูงแล้ว
นอกจากนี้ การเร่งรัดเส้นทางระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อให้รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จพร้อมๆ กับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงจากประเทศจีน-เวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อกับ สปป.ลาวได้ในปี 2564-2565 โดยทางลาวจะใช้เวลาก่อสร้างเส้นทางช่วงในประเทศลาวประมาณ 4 ปี ขณะที่ฝั่งไทยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปีเช่นกัน ซึ่งจะพอดีกันและจะทำให้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงวิ่งเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ-หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิงได้ตลอดสายทาง ถือเป็นผลสำเสร็จในด้านยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อ one belt one road
“การทำงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมาแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งได้ตกลงกันและได้เดินตามแนวทางที่ไทยได้เสนอไป โดยนายกรัฐมนตรีได้ปรับให้ไทยเป็นผู้ลงทุนเองเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการร่วมลงทุน และออกคำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องวิศวกรผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง แก้ปัญหาได้หมดแล้ว รวมถึงจีนเข้าใจและยอมรับในประเด็นข้อกฎหมายและระเบียบของไทยมากขึ้น” นายอาคมกล่าว