xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ถกบอร์ดอี-คอมเมิร์ซ ดันยอดค้าออนไลน์ 5 ล้านล้านปี 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ถกบอร์ดอี-คอมเมิร์ซ ทำแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ 5 ปี ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าค้าออนไลน์ทั้งระบบเป็น 5 ล้านล้านบาทในปี 64 เฉพาะ B2C เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท พร้อมวาง 4 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ ยกระดับระบบการชำระเงิน ลอจิสติกส์ เพิ่มปัจจัยสนับสนุนทั้งฐานข้อมูล แหล่งเงินทุน และการกำกับดูแล

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 16 ส.ค. กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนประชุมคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติระยะ 5 ปี (ปี 2560-2564) โดยได้กำหนดเป้าหมายที่จะผลักดันมูลค่าการค้าออนไลน์ของไทยทุกรูปแบบ ทั้งในรูปธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) ธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจกับรัฐ (B2G) ที่มีประมาณ 2.52 ล้านล้านบาทในปี 2559 ให้เพิ่มเป็น 5 ล้านล้านบาทในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 100% เฉลี่ยปีละ 20% และเฉพาะการค้าแบบ B2C ตั้งเป้าเพิ่มจาก 4.75 แสนล้านบาท เป็น 9 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% เช่นเดียวกัน

“ปัจจุบันมูลค่าการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซของไทย มีมูลค่าสูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของมูลค่าในอาเซียนทั้งหมด และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งกระทรวงฯ จะเข้าไปช่วยเหลือและผลักดันให้มีผู้ประกอบการที่ค้าขายออนไลน์เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะจากตัวตัวเลขที่สำรวจได้มี SMEs แค่ 5 แสนราย ที่ค้าขายออนไลน์เป็น จากจำนวน SMEs ที่มีอยู่ในระบบทั้งหมดกว่า 2 ล้านราย จึงยังสามารถเพิ่มจำนวนได้อีก” นางอภิรดีกล่าว

สำหรับแนวทางการทำงานภายใต้แผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ จะเร่งพัฒนาผู้ประกอบการในระดับฐานราก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้ค้าขายออนไลน์เป็น และจะพัฒนารายเดิมให้ขยายการค้าไปจนถึงส่งออกได้ รวมถึงช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้า แพจเกจจิ้ง

2. การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำอี-คอมเมิร์ซ จะยกระดับการชำระเงินที่ปลอดภัย เพิ่มช่องทางการชำระเงิน ส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการชำระเงินใหม่ๆ และเชื่อมต่อระบบการชำระเงินกับสากลในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ส่วนในด้านโลจิสติกส์ จะส่งเสริมให้มีบรรจุภัณฑ์ที่รองรับการขนส่ง เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ ทั้งในและต่างประเทศ

3. การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน จะสร้างหลักสูตรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ทันสมัย จัดทำคลังข้อมูลการชำระเงิน การขนส่ง แนวโน้มตลาด และส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน และพัฒนาการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ และปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

4. การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขาย จะผลักดันให้มีการลงทะเบียนในช่องทางการซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้ตรวจสอบความมีตัวตนได้ และเร่งสร้างกลไกคุ้มครองผู้บริโภค โดยเชื่อมโยง Call Center ให้เป็นเบอร์เดียว จากปัจจุบันที่มีหลายหน่วยงานรับเรื่อง ทั้ง สคบ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ โดยการแก้ไขปัญหาจะต้องเน้นไปที่ความรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น