xs
xsm
sm
md
lg

PayPal หวัง “PayPal.Me” ช่วยธุรกิจไทยดูดเงินต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


PayPal ผู้นำด้านการชำระเงินแบบดิจิตอลระดับโลก เปิดตัว “PayPal.Me สำหรับธุรกิจ” ระบบการชำระเงินแบบดิจิตอล จับตลาดผู้ประกอบอาชีพอิสระ ร้านค้ารายย่อย รวมไปถึงธุรกิจแบบ B2B ที่ต้องการขยายตลาดระหว่างประเทศ เน้นความสะดวก รวดเร็ว และเป็นส่วนตัว เพียงแค่มีบัญชี PayPal ก็สามารถรับชำระเงินได้

นายสมหวัง เหลืองไพบูลย์ ผู้จัดการ PayPal กล่าวถึงบริการใหม่ “PayPal.Me” ว่า เป็นฟีเจอร์ล่าสุดจาก PayPal ที่ต้องการช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจในยุคที่อี-คอมเมิร์ซมีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เป็นบริการที่มีความปลอดภัย สะดวกรวดเร็วในการชำระเงิน และบริหารจัดการเงินผ่านช่องทางออนไลน์

ปัจจุบัน โซเชียลคอมเมิร์ซกลายมาเป็นช่องทางการขายที่สำคัญของผู้ค้ารายย่อยในประเทศไทย ผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากเปลี่ยนจากการขายของหน้าร้านค้าแบบดั้งเดิมมาเป็นการขายของบนโซเชียลมีเดีย ตัวอย่างเช่น Panicloset ร้านค้าเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เริ่มเปิดร้านบนโซเชียลมีเดียจนถึงปัจจุบัน Panicloset มีผู้ติดตามบนแฟนเพจมากถึง 1.6 ล้านคน และมีแนวโน้มว่า จะเติบโตขึ้นอีกเรื่อยๆ

ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษา Brain & Co. คาดการณ์ว่า ราว 30% ของยอดขายออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจากร้านค้าบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก และมีแนวโน้มว่า จะเป็นไปในทิศทางบวก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความนิยมทางด้านการค้าบนโลกโซเชียลจะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีผู้ค้าหลายรายที่ยังคงกังวลกับขั้นตอนการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ยุ่งยากหลายขั้นตอน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าในโซเชียลแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่พอถึงขั้นตอนการชำระเงิน กลับต้องย้ายไปใช้อีกแพลตฟอร์มหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ทำการเพิ่มเครื่องมือในการชำระเงิน เพื่อรองรับอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ซึ่งหากผู้ค้าออนไลน์ในประเทศไทยต้องการขยายตลาด หรือเพิ่มการเติบโตของธุรกิจ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้หรือเปิดรับระบบรับชำระเงินที่เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยสนับสนุนให้ผู้ค้าสามารถรับชำระเงินผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างสะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น

“PayPal.Me สำหรับธุรกิจ เหมาะสำหรับผู้ค้าในการรับชำระ ไม่ว่าจะเป็นบนช่องทาง LINE, Facebook Messenger, หรือแม้แต่โปรแกรมส่งข้อความอื่นๆ บนโซเชียลมีเดีย ช่วยเพิ่มศักยภาพให้ร้านค้าบนโซเชียลเน็ตเวิร์กในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่”

สำหรับการชำระเงินสำหรับธุรกิจด้วยระบบ PayPal.Me ผู้ค้า และร้านค้ารายย่อย ไม่จำเป็นต้องส่งคู่มือการชำระเงินด้วยตนเอง หรือเลขที่บัญชีธนาคารให้แก่ลูกค้าอีกต่อไป ผู้ค้าสามารถตั้งค่าบัญชีผู้ใช้ของตนเอง โดยเพิ่ม URL ส่วนตัว (Personalized URL) เพื่อรับการชำระเงินระหว่างประเทศจากลูกค้า โดยบัญชี PayPal.Me นั้น จะลิงก์กับเจ้าของบัญชีผู้ใช้ PayPal ลิงก์การโอนเฉพาะตัว หรือ (Personalized unique transfer link) นี้สามารถทำงานได้บนทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ (text message), อีเมล, Messenger, โพสบนโซเชียลมีเดีย, บล็อค (blog) หรือแม้กระทั่งบนเว็บไซต์ ร้านค้าเล็กไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบใหญ่โตก็สามารถทำธุรกิจมีลูกค้าทั่วโลกได้

โดยลิงก์นี้ยังสามารถใส่จำนวนเงินที่ต้องการเรียกเก็บได้ ในส่วนท้ายของ URL นั้น เช่น http://www.paypal.me/XYZClothing/USD25 ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ซื้อในการจดจำแบรนด์ของผู้ค้าอีกด้วย เนื่องจากลิงก์นี้จะนำลูกค้าไปยังหน้าชำระเงินของ PayPal ที่ผู้ค้าสามารถตั้ง และกำหนดค่าได้เอง

PayPal.Me สำหรับธุรกิจจะช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ค้าสามารถรับชำระเงินจากผู้ซื้อ หรือลูกค้าในต่างประเทศได้มากกว่า 200 ล้านราย ในสกุลเงินต่างๆ มากกว่า 100 สกุลเงิน นอกจากนี้ ยังช่วยให้สามารถตรวจสอบธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือโดยอัตโนมัติ โดยมีระบบการตรวจสอบทันทีที่รายการธุรกรรมเกิดขึ้น และนโยบายการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

ผู้บริหาร PayPal กล่าวว่า ปัจจุบัน PayPal มีลูกค้าประมาณ 203 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้เป็นประเภทบิสิเนสประมาณ 16 ล้านร้านค้าที่ใช้ PayPal ในการรับเงิน ที่เหลือเป็นแบบผู้ค้าอิสระ โดยปริมาณการใช้งานใน 1 วินาที มีเงินวิ่งผ่าน PayPal ทั่วโลก 11,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.4 แสนบาท

สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย จะเน้นการช่วยร้านค้า โดยเป็นเครื่องมือช่วยในการรับเงิน ที่ผ่านมา คนไทยมีแอ็กเคานต์กับ PayPal จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการซื้อสินค้าในต่างประเทศ เพราะในประเทศไทยเองมีทางเลือกให้มาก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือเก็บเงินปลายทาง ส่วน PayPal.Me จะเน้นรับเงินจากต่างประเทศจากลูกค้าทั่วโลก โดย PayPal มีความตั้งใจอยากให้มีการใช้งานของลูกค้ามากขึ้น โดยมองว่า ในอนาคต หากใช้เป็นช่องทางใหม่ในการชำระเงินต่างๆ อย่างค่าบริการแท็กซี่ ก็จะทำให้เกิดความถี่ในการใช้งานผ่าน PayPal มากขึ้น

“การใช้งาน PayPal ในประเทศไทย เมื่อเทียบปี 2015-2016 เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก หรือประมาณ 16% และจากตัวเลข 54,000 ลิงก์ที่เป็นของคนไทยนั้น คิดเป็นสัดส่วน 26.8% เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวโน้มว่า ตัวเลขนี้จะเติบโตได้อีกมาก”
กำลังโหลดความคิดเห็น