วันที่ 16 สิงหาคม เวลา 09.00 น. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานเปิดงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 2 ชั้น 4 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
นายวัสกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจร่วมกันในหลักการสิทธิมนุษยชนจนนำไปสู่การยอมรับและเกิดวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนขึ้นในที่สุด นับแต่นั้นเป็นต้นมา หลักการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็ถูกบรรจุไว้ในพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ อีกทั้งสหประชาชาติยังได้ขยายหลักการดังกล่าวไปสู่แนวทางปฏิบัติมากขึ้น ดังที่ปรากฏในหลักการปารีส ว่าด้วยบทบาทการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการโลกด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนศึกษาและการฝึกอบรม
“ตลอดจนขยายประเด็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษาไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล ภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจตามหลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ (UN Guiding Principles) และการขยายประเด็นไปสู่วาระโลกอย่างเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการศึกษาเพื่อให้ทุกคนได้รับความรู้และทักษะด้านสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ อย่างหลากหลายและมีส่วนร่วม อันจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็นต้น”
ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล อันอยู่ในความหมายของคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังบัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีหน้าที่และอำนาจประการหนึ่งในการสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา 247 (5) อันเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษาให้กระจายสู่วงกว้างในสังคมและครอบคลุมทุกภาคส่วน
สำหรับ กสม. ถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติที่มีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส โดยได้กำหนดการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไว้ในยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2565 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 มุ่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และผลงานสำคัญของ กสม. ต่อสาธารณชนอย่างถูกต้องและทั่วถึง
“เพื่อให้การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์และอำนาจหน้าที่ของ กสม. จึงควรที่จะต้องเร่งจัดทำแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนซึ่งยึดโยงกับแนวทางและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สถานการณ์การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ของ กสม. โดยให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนการบูรณาการและเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนร่วมกันของสังคมอย่างครอบคลุม โดยไม่ทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลังในท้ายที่สุด” ประธาน กสม.กล่าวในตอนท้าย
จากนั้นเป็นเวทีการอภิปรายในหัวข้อ “ร่างแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2565” โดยนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประธานอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดทำร่างแผนส่งเสริมฯ ซึ่งเกี่ยวโยงกับอำนาจหน้าที่ของ กสม.ตามรัฐธรรมนูญ และแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ครอบคลุมเนื้อหา กลุ่มเป้าหมาย และมีกระบวนการที่หลากหลายเหมาะสม เช่น การสร้างหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชน การสร้างเครื่องมือและแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องเหมาะสมและตอบสนองต่อบริบทที่หลากหลายในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และกลุ่มเปราะบางในสังคม นำมาซึ่งการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา และสร้างเสริมให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณค่าการเคารพสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้
ทั้งนี้ ผลจากการสัมมนาในวันนี้ คณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะนำไปประมวลเพื่อจัดทำแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วมและเร่งดำเนินการตามแผนดังกล่าวต่อไป