นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กสม. และ ผศ.ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณาจารย์ ร่วมกันเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนลำดับที่ 5 และครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ
นายวัสแสดงปาฐกถาเรื่อง “ยุทธศาสตร์ของ กสม. ในการทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน” ตอนหนึ่งว่า กสม.ชุดที่ 3 ได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน และกำหนดพันธกิจไว้ 4 ด้านด้วยกัน คือ
1. ดำเนินงานให้เกิดการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตาม
2. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชนแก่ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน
3. ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในลักษณะเครือข่ายอย่างเป็นระบบด้วยกระบวนการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐาน
4. ประสานความร่วมมือกับสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ
“เป้าประสงค์หลักของยุทธศาสตร์ก็คือ ทุกภาคส่วนของสังคมมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ซึ่งการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับทุกภาคส่วนในสังคม ได้แก่ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน ล้วนเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของ กสม.ได้เป็นอย่างดียิ่ง” นายวัสกล่าว พร้อมกับเน้นย้ำว่า โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเป็นผู้มีบทบาทด้านการจัดการศึกษา การถ่ายทอดความรู้ การอบรมปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องแก่นิสิต นักศึกษา และประชาชน รวมทั้งการทำงานวิจัยทางวิชาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ
ประธาน กสม.กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถาบันการศึกษาในส่วนภูมิภาคอีกแห่งหนึ่งที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนให้ใช้พื้นที่คณะนิติศาสตร์เป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ ทั้งนี้ กสม.หวังว่าการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในภูมิภาคให้ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึงและสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนอื่นๆ ได้แก่ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน โดยวางแผนการดำเนินงานด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ ร่วมกันอย่างเป็นระบบต่อไป