วันนี้ (7 ส.ค. 60) เวลา 09.30 น. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กสม. และ รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้แทนกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่ ร่วมกันเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคใต้ ณ คณะนิติศาสตร์ มรภ.สุราษฎร์ธานี
นายวัสกล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างมาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาคจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อทำหน้าที่สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้อง รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประสานการคุ้มครองเบื้องต้นในพื้นที่ ส่งเสริมกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน และศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนการระดมพลังภาคีเครือข่ายสิทธิมนุษยชน
ประธาน กสม.กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนในภาคใต้ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง และสามารถเข้าร้องเรียนกรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ โดยหลังการเปิดศูนย์ฯ ตนได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน” จากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง “กระบวนการทำงานของศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก กสม. และคณะนิติศาสตร์ มรภ.สุราษฎร์ธานี
นายวัสกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กสม.ชุดที่ 3 เปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว 3 แห่ง และวันที่ 9 สิงหาคม 2560 กสม.จะร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ ซึ่งเป็นศูนย์ฯ แห่งที่ 4
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 กสม.ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 กสม.ได้ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออก และหากรวมศูนย์ประสานงานสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ที่จัดตั้งโดย กสม.ชุดที่ 2 จะมีศูนย์ฯ รวมทั้งสิ้น 5 แห่ง