ปตท.เตรียมกลับมาผลิตเหมืองถ่านหิน Sebuku ที่อินโดนีเซียอีกครั้งในปลายปีนี้หรือต้นปี 61 หลังหยุดไปช่วงต้นปีนี้ รับจังหวะราคาถ่านหินดีดตัวขึ้น คาดปีนี้โกยกำไร 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2 พันล้านบาท ตั้งเป้าปีหน้าผลิตถ่านหินได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 7.5-8.5 ล้านตัน/ปี โดยไม่มีแผนลงทุนใหม่ตามนโยบายที่ชะลอการลงทุนในอินโดฯ จนกว่าคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ปตท.สผ. 7 หมื่นล้านยุติ
นายไพบูลย์ เทพเลิศบุญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและวางแผนธุรกิจ บริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ รีซอร์สเซส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทจะกลับมาเปิดเหมืองถ่านหิน Sebuku ที่ประเทศอินโดนีเซียอีกครั้งในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2561 หลังจากมีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาจึงได้ปิดเหมืองดังกล่าวไปเมื่อต้นปี 2560 คาดว่าจะกลับมาผลิตถ่านหินระดับ 5 แสนตัน/ปี รองรับราคาถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจุบันผลิตถ่านหินอยู่ 7-8 ล้านตัน/ปี โดยสัปดาห์ที่แล้วราคาถ่านหินขยับขึ้นไปอยู่ที่ 90-95 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ดังนั้น ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายกำไรอยู่ที่ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมีกำไร 7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 220 ล้านบาท
ปัจจุบัน ปตท.มีเหมืองถ่านหินที่ผลิตแล้วในอินโดนีเซียอยู่ 2 เหมือง คือ Sebuku เป็นเหมืองถ่านหินขนาดเล็ก และ Jambayan เป็นเหมืองขนาดใหญ่ ในปีหน้าบริษัทตั้งเป้าผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 7.5-8.5 ล้านตัน เนื่องจากมีกำลังผลิตจากเหมือง Sebuku เข้ามา และไม่มีแผนที่จะเจาะหลุมผลิตลึกขึ้นเพื่อหวังเพิ่มปริมาณถ่านหิน แต่จะเน้นทำเหมืองถ่านหินตามแผนงานที่วางไว้เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตและรักษาปริมาณสำรองถ่านหินเพียงพอทำตลาดนานนับ 10 ปี
นายไพบูลย์กล่าวต่อไปว่า บริษัทไม่มีนโยบายที่จะขยายการลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินเพิ่มเติมในช่วงที่ราคาถ่านหินปรับตัวลง เนื่องจากนโยบายบริษัทแม่ คือ ปตท.ที่ชะลอการลงทุนใหม่ในอินโดนีเซียจนกว่าคดีการฟ้อง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เรียกค่าเสียหาย 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7 หมื่นล้านบาทของรัฐบาลอินโดนีเซียกรณีน้ำมันรั่วไหลจากแหล่งมอนทาราเมื่อปี 2552 สิ้นสุดลง ดังนั้นบริษัทจึงเน้นลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำเพื่อแข่งขันได้ ล่าสุดบริษัทมีต้นทุนการผลิตถ่านหินอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลง 40% จากช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ที่มีต้นทุนผลิตถ่านหินเฉลี่ย 60-70 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ช่วงนั้นราคาถ่านหินในตลาดโลกเฉลี่ยกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน
สำหรับแผนการตลาดจะเน้นขายถ่านหินให้กับโรงไฟฟ้าที่ไต้หวันและญี่ปุ่นตามสัญญาคอนแทรกต์ที่ราคาสูงกว่าราคาตลาดจร ส่วนตลาดจีนก็มีการส่งไปจำหน่ายบ้างแต่น้อยเพราะเป็นราคาตลาดจร ส่วนตลาดในไทยนั้นอยู่ระหว่างการติดตามว่าจะมีการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งบริษัทอยากเจาะตลาดโรงไฟฟ้ามากกว่าขายให้ภาคอุตสาหกรรมในราคาตลาดจร
ขณะเดียวกัน บริษัทศึกษาความเป็นไปได้ในการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อินโดนีเซีย เพื่อให้บริษัทในเครือ ปตท. คือ บมจ.โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่ดูแลธุรกิจไฟฟ้าเข้าไปประมูลแข่งขัน โดยยอมรับว่านโยบายภาครัฐของอินโดนีเซียเปลี่ยนแปลงบ่อยแต่ก็ยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพราะมีความต้องการไฟฟ้าอีกมาก