สภาผู้ส่งออกหลังร้องท่าเรือกรุงเทพสุดแออัด กระทบบริการแถมถูกชาร์จค่าใช้จ่ายเพิ่ม “พิชิต” รับลูกสั่งกวดขัน พร้อมเร่งแผนพัฒนาอัปเกรดบริการ ทุ่ม 7.5 พันล้านใน 5 ปีเคลียร์ท่าเรือและคลังสินค้าเพิ่มประสิทธิภาพ แถมได้พื้นที่ว่างอีก 281.32 ไร่ มูลค่ากว่าหมื่นล้านพัฒนาสร้างรายได้ พร้อมทั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาท่าเรือร้างทั่วประเทศ เล็งหารือธนารักษ์ปรับลดค่าเช่าเพื่อจูงใจเอกชน
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) และผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า สภาผู้ส่งออกได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เสนอให้ปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพให้มีประสิทธิภาพโดยระบุถึงปัญหาความแออัด เนื่องจากมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าสูงถึง 1.5 ล้านทีอียู /ปี ซึ่งเกินขีดความสามารถรองรับที่ 1 ล้านทีอียู/ปี ทำให้เกิดความไม่สะดวก และมีการเรียกเก็บค่าบริการ หรือ Congestion Surcharge สูงขึ้น โดยอ้างว่าท่าเรือหนาแน่นจึงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพิ่ม ซึ่ง กทท.ระบุว่าขณะนี้การเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มมีน้อยลงแล้ว หากมีเรียกเก็บเพิ่มให้ผู้ใช้บริการแจ้งไปยัง กทท.ทันที
โดย กทท.มีแผนในการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพในระยะ 5 ปี วงเงินลงทุน 7,500 ล้านบาท คือ 1. ปรับปรุงท่าเรือและคลังสินค้านำเข้าและส่งออก วงเงิน 4,971 ล้านบาท (แล้วเสร็จปี 65) 2. ปรับปรุงบริการ One Stop Service วงเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท (เสร็จปี 63) และในปี 61 จะจัดตั้งงบประมาณเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาการลงทุนระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศในการเชื่อมต่อบูรณาการข้อมูลภาครัฐและเอกชน หรือ PCS : Port Community System (PCS) ซึ่งจะทำให้ยกระดับการให้บริการท่าเรือกรุงเทพเป็นมาตรฐานโลก
ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวจะทำให้ กทท.มีพื้นที่ว่างเพิ่มอีก 281.32 ไร่ มูลค่าขั้นต่ำหมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ ปัจจุบัน กทท.มีสินทรัพย์มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท แต่พัฒนาสร้างผลตอบแทนได้ 700 ล้านบาท/ปี หรือ 1% เศษซึ่งต่ำมาก นโยบายต้องการให้เพิ่มผลตอบแทนเป็น 4-5% ขณะที่ยังสามารถนำรายได้ไปพัฒนาท่าเรือให้มีคุณภาพในการบริการมากขึ้น จึงให้ กทท.เร่งรัดแผนพัฒนาให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ภาพรวมปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือทั่วประเทศประมาณ 9.161 ล้านทีอียู/ปี ที่ท่าเรือกรุงเทพ 1.5 ล้านทีอียู โดยจะคงนโยบายเป็นท่าเรือในประเทศ และไม่เพิ่มปริมาณมากไปกว่านี้ หากมีเพิ่มให้ไปใช้ที่ท่าเรือแหลมฉบังแทนซึ่งปัจจุบันมีปริมาณสินค้าที่ 7.5 ล้านทีอียู
“หลักการของท่าเรือกรุงเทพคือ เป็นท่าเรือภายในประเทศ ยังคงนโยบายจำกัดปริมาณตู้สินค้าไม่ให้เกิน 1 ล้านทีอียู ดังนั้นจะต้องไม่ให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มมากไปกว่านี้เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดมากเกินขีดความสามารถรองรับจนเกินไป หากมีส่วนที่เกิน การท่าเรือฯ จะต้องผลักดันให้ไปใช้บริการที่ท่าเรือแหลมฉบัง” นายพิชิตกล่าว
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเสนอให้รัฐบริหารจัดการท่าเรือร้างจำนวนมาก ซึ่งกรมเจ้าท่าเป็นผู้ก่อสร้างบนที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่ติดปัญหาไม่มีการบริหารจัดการเนื่องจากค่าเช่าแพง ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ศึกษาหลักการและแนวทางไว้แล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมพิจารณาเพื่อเร่งหาข้อสรุปเสนอไปยังกรมธนารักษ์โดยเร็ว หลักการอาจต้องเสนอให้ปรับลดหลักเกณฑ์ วิธีคิดค่าเช่าของกรมธนารักษ์ รวมถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่หลังท่า และการเชื่อมโยงขนส่งโหมดอื่นทั้งรถไฟ และถนน