ด่วน! “เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์” ผอ.การท่าเรือ ยื่นหนังสือลาออก ด้านบอร์ดรีบเซ็นอนุมัติ สร้างความสงสัยแก่พนักงาน ไม่ทราบสาเหตุการลงจากเก้าอี้ คาดผลพวงสั่งระงับการว่าจ้างเอกชนในท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีญาติบอร์ดร่วมเอี่ยว
รายงานข่าวแจ้งว่า เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งแล้ว และมีรายงานว่าคณะกรรมการบอร์ดได้เซ็นอนุมัติการลาออกของเรือเอก สุทธินันท์ เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ยังไม่ทราบสาเหตุการตัดสินใจลาออกที่แน่ชัด สร้างความสงสัยให้แก่พนักงานการท่าเรือจำนวนมาก จึงจะมีการรวมตัวเพื่อให้กำลังใจ เรือเอก สุทธินันท์ ที่อาคารอำนวยการ เวลา 15.00 น. วันนี้ (16 มิ.ย.)
สำหรับ เรือเอก สุทธินันท์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2558 ก่อนหน้านั้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และลาออก เพื่อลงสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมา ในการดำรงตำแหน่งเป็นที่ชื่นชอบของพนักงาน เนื่องจากเป็นผู้บริหารที่ลงมาคลุกคลีทำงานร่วมกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ การท่าเรือฯ ช่วงเดือนมีนาคม มีข่าวว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เหตุใดท่าเรือแหลมฉบัง จึงต้องดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยวิธีพิเศษ เข้ามารับจ้างงานบริการยกขน และเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท โดยปรากฏชื่อ บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจซื้อขายซอฟต์แวร์ และมีรายได้ในปี 2558 เพียงแค่ 3 แสนบาท เป็นผู้รับจ้างทั้งที่ในปัจจุบัน บริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ในการให้บริการยกขน และเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 6 ราย
นอกจากนี้ จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด มี นางอัญชลีพร อภิศิตสวัสดิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยนางอัญชลีพร อภิศิตสวัสดิ์ เคยใช้นามสกุลเดิมว่า “หรูสกุล” ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกับ “นาวาเอก เบญจพล หรูสกุล” เลขานุการของ พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานกรรมการ กทท. และจากการสืบค้นข้อมูลในทะเบียนราษฎร พบว่า บุคคลทั้ง 2 มีความสัมพันธ์เป็น “พี่น้องกัน” นางอัญชลีพร มีสถานะเป็นพี่สาว ส่วนนาวาเอก เบญจพล เป็นน้องชาย
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว กทท. ได้มีคำสั่งให้ท่าเรือแหลมฉบัง ยกเลิกการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงานบริการยกขน และเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท ดังกล่าวแล้ว พร้อมมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสวนข้อเท็จจริงขั้นตอนการว่าจัดซื้อจัดจ้างด้วย
ล่าสุดคณะกรรมการบริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้มีมติแต่งตั้งให้ ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แทน เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ที่ลาออกไป โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามจากการตั้งข้อสังเกตุถึงความผิดปกติ และไม่ชอบมาพากล ในการตั้งผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังเข้ามาดำรงค์ตำแหน่ง รักษาการผู้อำนวยการการท่าเรือ หรือ กทท. นั้น โดยธรรมเนียมปฏิบัติจะให้ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ (เรือโท ชำนาญ ไชยฤทธิ์ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพคนปัจจุบัน) เข้ารักษาการแทนตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้อง ทั้งสายงาน คุณวุฒิ และวัยวุฒิ ซึ่งการลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง มารักษาการแทน ผอ.กทท. ที่ลาออกไปนั้นถือว่ามีความผิดปกติอย่างยิ่ง